ซุบซิบกทม. : 25 กันยายน 2566


วันจันทร์ ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

nn มีความเห็นหลากหลายออกมาภายหลังจากที่ “ไผ่ฎำ” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถของโรงพยาบาลกลางว่า โดยหลักแล้วโรงพยาบาลจะเรียกเก็บค่าจอดรถจากผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาและเยี่ยมไข้นั้นไม่เหมาะไม่ควร บ้างก็ว่าถ้าไม่เก็บก็จะทำให้คนภายนอกฉวยโอกาสเข้าไปจอด สุดท้ายส่งผลให้ที่จอดรถสำหรับคนไข้คนไปเยี่ยมไข้ไม่มี บ้างก็ว่าถ้าไม่จัดเก็บแล้ววันข้างหน้าที่จอดรถมีปัญหา (ชำรุด) หรือต้องมีการซ่อมแซมส่วนใดๆ แล้วทางโรงพยาบาลจะเอาเงินจากไหนไปซ่อมบำรุง และบ้างก็ว่า การจัดเก็บที่จอดรถของโรงพยาบาลเป็นไปตามระเบียบสามารถทำได้ รวมทั้งอีกมากมายหลายความเห็นของการสนับสนุนและโต้แย้ง ซึ่งหากมองตามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นดาบสองคมอาจสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายอย่างมากทีเดียว…

nn เพราะโรงพยาบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลให้การรักษาคนไข้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐนั้นชัดเจนว่า งบประมาณการก่อสร้างมาจากเงินภาษีประชาชน การนำพื้นที่ของโรงพยาบาลไปหาประโยชน์ใดๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ดังกล่าวย่อมไม่ได้ สำหรับข้ออ้างว่าโรงพยาบาลจำเป็นต้องจัดระเบียบ จำเป็นต้องเรียกเก็บเงินเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเข้าไปจอดแย่งพื้นที่ของคนไข้คนป่วยนั้น ฟังดูแล้ว “สุดหล่อ” แต่การอ้างเช่นนั้นเหตุใดจึงไม่สกรีนแยกคนไปใช้โรงพยาบาลกับคนไม่มีจุดมุ่งหมายไปใช้ให้ชัดเจน ซึ่งตรงนี้ทำได้ไม่ยาก (ถ้าโรงพยาบาลรัฐที่เรียกเก็บเงินค่าจอดรถไม่นึกถึงเงินที่ได้มาง่ายๆ แบบมัดมือชก) คือ ใครไปใช้โรงพยาบาลก็ให้บัตรจอดรถ แต่ไม่ใช่ให้บัตรแล้วปั๊มๆ แล้วจ่ายครึ่งราคาเหมือนตามที่ปรากฏ (บางโรงพยาบาล) ลักษณะนี้เป็นเจตนาชัดว่า โรงพยาบาลจงใจหาเงิน หรือการหาเงินแล้วกล่าวอ้างกันหล่อๆ เท่ๆ ว่าเก็บเพื่อบำรุงโรงพยาบาล นี่ก็เท่ากับยอมรับว่าโรงพยาบาลจงใจเก็บค่าจอดรถเพื่อธุรกิจ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เขาลงทุนเองเขากระทำได้ ทว่า โรงพยาบาลรัฐรวมทั้งของกทม.ใช้เงินภาษีประชาชนก่อสร้าง ทำกันได้อย่างไร…

nn สำหรับโรงพยาบาลกลางของ กทม.ถูกร้องมาตลอด โดยทางสำนักแพทย์ก็เคยบอกนิ่มๆ พระเอกๆ ว่า เรียกเก็บตามระเบียบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คนไข้ ญาติคนไข้สามารถปั๊มบัตรได้ อันนี้ไม่มีใครเถียง ทว่าคนไข้ปั๊มแล้วยังต้องจ่ายเงิน มีรายละเอียดในบัตรเพียบบวกกับความไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งๆ เก็บเงินเขาไป ถามว่าคืออะไร ที่จริงปั๊มบัตรแล้วก็ไม่ควรจ่าย สังคมอยู่ได้เพราะความเอื้อเฟื้ออยู่ได้เพราะหลักเมตตาธรรม สังคมใดมีกิเลส ราคะมาก โลภมาก สังคมนั้นอันตราย…

nn อย่างไรก็ตามระเบียบหรือข้อบัญญัติที่ออกกันเองจะต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวง หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย เพราะถ้ากฎระเบียบที่ว่าแย้งหรือขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระเบียบหรือข้อบัญญัตินั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ (โมฆะ) ดังนั้นการที่โรงพยาบาลรัฐเก็บค่าจอดรถด้วยวิธีเอาพื้นที่ซึ่งจัดสร้างด้วยเงินภาษีประชาชนออกให้เอกชนดำเนินการจัดเก็บดูแล้วคล้ายๆ จงใจเลี่ยงกฎหมาย เพราะราชการทำเองไม่ได้…

nn คนไข้ผู้ไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง นอกจากโรงพยาบาลกลาง กทม.แล้ว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต, โรงพยาบาลสวนดอกเชียงใหม่, โรงพยาบาล ม.อ.สงขลา (มีให้เลือกทั้งเสียเงินและไม่เสียเงิน)โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงพยาบาลหาเงินกับผู้ป่วยไข้ที่ตกทุกข์ได้ยากกันง่ายๆ น่ารังเกียจยิ่งทีเดียวก็ไม่รู้ว่าผู้บริหารคิดได้อย่างไร หรือใช้สมองส่วนไหนคิด คุณธรรมจิตสำนึกอยู่ไหน ตัวเองก็รับเงินเดือนภาษีประชาชน แถมพื้นที่ก็เป็นทรัพย์สินทางราชการ ถ้ากลัวคนนอกที่อ้างว่าเข้าไปจอดแย่งพื้นที่จอดรถคนป่วย ก็ควรใช้ระบบปั๊มบัตรแยกแยะ ไม่ใช่ปั๊มแล้วก็เรียกเก็บ นี่แสดงว่ามีเป้าหมายจงใจหาเงิน…

nn เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวันนี้คนเคยเป็นเด็กวัดเข้ามาดูแล น่าจะหยิบประเด็นดังกล่าวมาพูด เพราะคนเป็นรัฐมนตรีถ้าพูดมันจะมีเสียงดังมากกว่า “รากหญ้า” ที่เขาเดือดร้อนและเจ็บปวด…nn

ไผ่ฎำ




<!–

window._taboola = window._taboola || [];
_taboola.push({
mode: ‘thumbnails-a’,
container: ‘taboola-below-article-text-links’,
placement: ‘Below Article Text Links’,
target_type: ‘mix’
});
–>


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *