ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
ลานกว้างกลางโถงชั้นล่างฝั่งประตูทางเข้าห้างดังย่านลาดกระบังถูกตกแต่งเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดย่อม ด้านหน้าเป็นเวทีและมีบูทสินค้ากระจายอยู่โดยรอบ ตรงกลางเป็นกรงและคอกสัตว์นานาชนิด มีทั้งสัตว์เลี้ยงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างสุนัข กระต่าย สัตว์กีบอย่างแพะ แกะ สัตว์เลื้อยคลานอย่างเต่า ไปจนถึงสัตว์ปีกรูปร่างแปลกตาอย่างนกเหยี่ยวแฮริสฮอว์ค นกเค้าแมวไซบีเรียน ที่มาโชว์ตัวในฐานะนักล่าหนู
ยิ่งเย็นย่ำผู้คนยิ่งพากันเข้าห้าง ลานแสดงสัตว์ชั่วคราวคึกคักด้วยผู้คนล้นหลามชี้ชวนกันมุงดู “ความน่ารัก” ของสัตว์หลากชนิด เด็กๆ จูงมือพ่อแม่มาป้อนนมป้อนหญ้าให้แพะ แกะ กินไม่ได้ขาด ฝั่งป้อนอาหารไก่ชิลกี้ก็ไม่น้อยหน้ากัน
ด้วยอุณหภูมิอันเย็นฉ่ำของห้างสรรพสินค้า โถงกลางที่รายล้อมด้วยร้านค้าร้านอาหาร มีแนวบันไดเลื่อนทอดยาวสู่ชั้นบนของตัวห้างดึงดูดทุกสายตาสู่ลานแสดงสัตว์ที่กลายเป็นจุดศูนย์กลางของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้
แม้สโลแกนของงานแสดงสัตว์คือ “ที่แห่งนี้มีแต่ความน่ารัก” แต่ยากจะชี้ชัดว่าเสียงและแววตาที่เหล่าสัตว์อยากสื่อความหมายแปลว่าอะไร
ท่าทางที่คนทึกทักเอาเองว่าสัตว์กำลังมีความสุขอาจไม่ใช่อย่างที่คิด


ย้อนอดีตสัตว์(สินค้า) กลางห้าง
ไม่กี่เดือนต่อมา ห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ กันก็จัดกิจกรรมโชว์สัตว์ภายใต้ธีม “Exotic Animal”
ประเมินด้วยสายตา ครั้งนี้มีสัตว์จำนวนมากกว่าคราวก่อน และเพิ่มภาพความ “เอ็กโซติก” หรือ “ตื่นตาตื่นใจ” ด้วยตุ๊กแกลายเสือดาว กิ้งก่าจีวิ้ว แมงมุมทารันทูรา แม็กซิกัน เรดนี เบียร์ดดราก้อนหรือมังกรเครา แมงป่องช้างหรือแมงเงา กบบัดเจท ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลานสารพัดชนิดมีชีวิตอยู่ในตู้กระจกใบเล็กเท่าตู้ปลา…ที่ติดป้ายประกาศห้ามจับและห้ามเคาะ
โดยทั่วไปแล้ว Exotic Animal หรือ Exotic Pet เป็นคำจำกัดความที่ใช้เรียกสัตว์ชนิดใดก็ตามที่มีความแปลกประหลาดด้านรูปร่าง สีสัน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงธรรมดาสามัญอย่างหมาหรือแมวทั่วไป
สัตว์ “เอ็กโซติก” อาจเป็นได้ทั้งสัตว์ป่านำเข้าจากต่างประเทศ สัตว์ป่าในเมืองไทย สัตว์ที่พบได้ทั่วไปแต่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมจนมีรูปร่างผิดแปลกจากสายพันธุ์เดิม สัตว์มีพิษที่คนส่วนใหญ่ไม่เลี้ยงแต่คนส่วนหนึ่งนำมาเลี้ยง หรือแม้กระทั่งสัตว์พิการ
เนิ่นนานมาแล้วแล้วที่มีผู้นำสัตว์แปลกเข้ามาในเมืองไทย ในขณะที่กิจกรรมโชว์สัตว์แปลกในห้างสรรพสินค้าก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ย้อนเวลากลับไปในยุค ๒๕๕๐ ห้างดังบนถนนสุขุมวิทเคยจัดงานโชว์สัตว์แปลกกลางห้างติดต่อกันหลายปี โดยทางห้างนำทั้งสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้หายากจากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดงทั้งภายในห้าง และบางส่วนจัดแสดงบริเวณที่อยู่ติดถนนสุขุมวิท
ครั้งหนึ่งทางห้างนำ สล็อธ (Sloth) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายากจากต่างประเทศมาร่วมจัดแสดงภายในห้างโดยขังไว้ในกรง ผู้เข้าชมงานส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์ต่างถิ่นที่มีลักษณะคล้ายนางอายชนิดนี้มักจะหลบซ่อนตัวหรือไม่ก็หมุนตัวอยู่ภายในลังเล็กๆ ที่เจ้าหน้าที่นำมาติดตั้งไว้ในกรง
นอกจากนี้ยังสังเกตว่านกเค้าแมวที่ตามธรรมชาติแล้วเป็นสัตว์หากินกลางคืนมักถูกผู้เข้าชมรุมถ่ายรูปโดยไม่คำนึงว่าจะปิดหรือเปิดเฟลช การใช้แสงไฟเพื่อช่วยในการถ่ายรูปน่าจะส่งผลกระทบต่อดวงตาของนกกลางคืนพันธุ์หายากชนิดนี้บ้างไม่มากก็น้อย
ราวบ่ายโมงของวันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ กลุ่มคนรักสัตว์และห่วงใยสวัสดิภาพสัตว์ในนามเครือข่ายคนรักสัตว์ประมาณ ๓๐ คน จึงเดินทางมาจัดกิจกรรมประท้วง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตลาดที่นำสัตว์ป่าหายากรวมทั้งสัตว์แปลก-สัตว์ป่ามาจัดแสดงภายในห้าง
แผ่นป้ายที่ใช้รณรงค์ครั้งนั้นปรากฏข้อความ อาทิ “สวรรค์สัตว์ป่าตรงไหน ? นรก” , “ชีวิตสัตว์ไม่ใช่เครื่องมือทางการตลาด อย่าอ้างว่าอนุรักษ์” , “A shopping mall is no home for animal”
นอกจากป้ายข้อความผู้รณรงค์ยังนำกรงขนาดใหญ่ให้คนเข้าไปอยู่ข้างใน สื่อความหมายถึงการทรมานกักขัง และยื่นหนังสือคัดค้านการจัดแสดงสัตว์ในงานต่อผู้บริหารห้างดัง
หนึ่งในผู้ที่เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อกว่าสิบปีก่อนให้เหตุผลของเข้าร่วมว่า “เห็นทำมานานแล้ว ห้างนี้เคยเอาฉลามเด็กมาใส่ตู้โชว์กลางฮอลล์ แล้วฉลามมันอยู่ในตู้แคบๆ ก็ว่ายกลับตัวยากมาก ทุลักทุเล หยุดว่ายก็ตาย เพราะก็รู้กันอยู่ว่าเขาหายใจโดยการว่ายน้ำ ถามพนักงานผู้น้อยก็ไม่กล้าสบตาเรา…ขอบคุณที่มีคนเริ่ม”
การรณรงค์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาทำข่าว รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์แนวหน้าพาดหัวข่าวกรอบเล็กๆ ว่า “รุมต้านจัดงานแสดงสัตว์หน้าห้าง”
การเรียกร้องอย่างจริงจังประสบผลสำเร็จ ผู้บริหารห้างตัดสินใจยกเลิกการนำสัตว์ป่ามาแสดงในห้างอย่างที่เคยทำติดต่อกันมาหลายปี งานอัศจรรย์พืชและสัตว์ป่าพิศวงเปลี่ยนรูปแบบมาใช้วิธีจัดแสดงหุ่นจำลอง และศิลปะสัตว์กระดาษ



การกลับมาของโชว์สัตว์ (แปลก) กลางห้าง : ข้อถกเถียงไม่รู้จบ
ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการนำสัตว์แปลกและสัตว์ป่ามาจัดแสดงในห้างเพื่อดึงดูดลูกค้า หัวใจที่รักสัตว์บอกพวกเขาว่า Exotic Animal ไม่ใช่ตุ๊กตา ไม่ใช่สินค้ามีชีวิตที่จะถูกใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือทางการค้า ดึงดูดผู้คน
แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ในกิจกรรมรณรงค์ของกลุ่มคนรักษ์สัตว์เมื่อกว่าสิบปีก่อน นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หนึ่งในผู้ประท้วงให้สัมภาษณ์ว่าการจัดแสดงสัตว์ภายในห้างเป็นการทรมานสัตว์ เพราะนำมาอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่เหมาะสม และสัตว์บางชนิดเป็นสัตว์อนุรักษ์ หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ในขณะที่ผู้แทนห้างดังชี้แจงว่าการจัดงานมีวัตถุประสงค์เดียวกันกับผู้ประท้วงคือมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์ เพียงแต่แนวทางอาจแตกต่างกัน ทางห้างมีข้อกำหนดหรือข้อห้ามสำหรับผู้เข้าร่วมชมงานหลายข้อ ที่สำคัญสัตว์ที่นำมาจัดแสดงก็ล้วนนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสวนสัตว์ในการจัดสถานที่ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์
ตามกฎหมายของประเทศไทย จำแนกสัตว์แปลกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
๑) สัตว์ต่างถิ่น เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย การนำเข้าและส่งออกอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES : The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) แบ่งออกเป็นชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข ๑ (Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้า ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข ๒ (Appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ ประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข ๓ (Appendix III) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ภาคีอนุสัญญาไซเตสซึ่งเป็นประเทศถิ่นกำเนิดประกาศให้เป็นสัตว์ป่าและพืชป่าหวงห้ามหรือคุ้มครองตามกฎหมายภายในประเทศของตน จึงขอความร่วมมือจากประเทศภาคีอื่นให้ช่วยดูแลการค้าระหว่างประเทศด้วย
๒) สัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หากไม่มีรายชื่อใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงได้โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์


มีรายงานว่าทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ Exotic Pet อันดับต้นๆ ของโลก ผู้ค้าสามารถนำเข้าและส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย เสียภาษีตามอนุสัญญาไซเตส
นี่อาจเป็นสาเหตุให้การจัดแสดงสัตว์แปลกภายในห้างไม่หมดสิ้นไป
ตรงกันข้ามกลับยังมีผู้ให้การสนับสนุนอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างกรณีเหยี่ยว African crown eagle ที่ต้องสวมใส่ฮู้ดปิดตาเมื่อถูกนำมาจัดแสดง มีผู้ชี้แจงว่าเป็นนกเลี้ยงเกิดในฟาร์มเพาะพันธุ์จากต่างประเทศ ได้รับอนุญาติจากไซเตสนำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่นกที่ถูกจับมาจากป่าแต่อย่างใด การปิดตานกด้วยฮู้ดเป็นเงื่อนไขที่ศูนย์อนุรักษ์ฟื้นฟูนกในต่างประเทศก็ใช้กัน ดีต่อนกเพราะช่วยปกป้องดวงตาของนกจากแสงแฟลชและการรบกวนต่างๆ พร้อมกับยืนยันว่านกเหล่านี้คุ้นเคยกับการเข้าใกล้ผู้คนมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีอาการตื่นตกใจ
ความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ทำให้สัตว์หลายชนิดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงพิเศษหรือสัตว์แปลกที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งนำมาใช้เป็นกลยุทธดึงดูดลูกค้า
Exotic Animal อาจแบ่งออกเป็น ๖ ประเภทกว้างๆ ได้แก่
- กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า กิ้งก่า มังกรเครา งู เต่า
- กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบลูกศรพิษ กบโกไลแอท กบแคระแอฟริกัน กบนา กบมะเขือเทศ มาดากัสการ์ กบแอฟริกันบูลฟร็อก ซาลาแมนเดอร์
- กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง แมงมุมทารันทูล่า
- กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอกคาเทล นกแก้วมาคอร์ นกเหยี่ยว นกยูง
- กลุ่มสัตว์น้ำ เช่น ปลาปักเป้าฟาฮากา ปลาเทพา
- กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์ สุนัขจิ้งจอก แรคคูน แพรีด็อก เมียแคท บุชเบบี้ ชูการ์ไกลเดอร์
ความไม่คุ้นเคยทำให้สัตว์ธรรมดาๆ กลายเป็น “ของแปลก” ในสายตามนุษย์
ทั้งๆ ที่ทุกชีวิตมีค่าเกินกว่าจะถูกนำมาสังเวยให้กับการแสวงหากำไรที่ไม่สิ้นสุด
สิ่งที่ดูสวยงามบางครั้งก็ปราศจากมนุษยธรรมได้อย่างน่าเหลือเชื่อ