หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยกินยาถ่ายพยาธิไอเวอร์เมคตินป้องกันโควิด กินต่อเนื่อง 2 ปี ล่าสุดติดโควิด กินยาโมลนูพิราเวียร์ช้า ทำให้ปอดอักเสบ ปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอแล้วว่า ไอเวอร์เมคติน ไม่ได้ช่วยป้องกัน-รักษาโควิด
อุทาหรณ์ยาถ่ายพยาธิ วันนี้ (9 ต.ค.66) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ยกข้อมูลผู้ป่วยเตือนเป็นอุทาหรณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยผู้ป่วยคนนี้เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา แล้ว 2 เข็ม กินยาไอเวอร์เมคติน (ivermectin) ขนาด 6 มิลลิกรัม 1 เม็ด สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันมากกว่า 2 ปี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.66 หลังเดินทางกลับจากปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ เสียงหาย ตรวจ ATK ผลเป็นบวก จึงกินยาไอเวอร์เมคติน (ivermectin) 2 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4 วัน เพื่อรักษาโรคโควิด แต่อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 28 ส.ค.66 (หลังมีอาการป่วยโควิด 5 วัน) จึงเริ่มกินยาโมลนูพิราเวียร์ โดยกินยาโมลนูพิราเวียร์ต่อเนื่องจนครบ 5 วัน ต่อมาวันที่ 4 ก.ย.66 ผู้ป่วยมาตรวจที่โรงพยาบาลเพราะยังมีไอ ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย โดยคนไข้มาโรงพยาบาล 12 วัน หลังจากทราบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด
ผลตรวจร่างกายอุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจน 98% ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวกลางปอดข้างซ้ายและปอดขวาด้านล่าง เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวปกติ ส่งเลือดเพาะเชื้อ ไม่พบเชื้อแบคทีเรีย แพทย์วินิจฉัยว่า ปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด สาเหตุจากกินยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ช้าไป แพทย์ได้ให้ยาเสตียรอยด์ชนิดกิน เพื่อลดการอักเสบ และให้ยาปฏิชีวนะกลับไปกินที่บ้าน
หลังจากนั้น แพทย์ได้ติดตาม 1 สัปดาห์ อาการไอดีขึ้น ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่เหนื่อยแล้ว เอกซเรย์ปอดฝ้าขาวลดลง 1 เดือนถัดมา แพทย์สั่งหยุดกินยาทุกอย่าง คนไข้ไม่ไอ ไม่เหนื่อย แข็งแรงเหมือนเดิม เอกซเรย์ปอดเกือบปกติ
หมอมนูญ ย้ำว่า ปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากเพียงพอแล้วว่า ไอเวอร์เมคติน (ivermectin) ไม่ได้ช่วยป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ไอเวอร์เมคติน (ivermectin) ใช้รักษาโรคพยาธิเท่านั้น ขอให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดปีนี้ ไปรับวัคซีนรุ่นใหม่ mRNA 1 เข็ม และต่อไปปีละ 1 ครั้ง ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ไม่ได้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อไวรัสโควิด อย่ารอช้า รีบกินยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดภายใน 5 วันแรก