เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต ผู้แทน SOS, VV Share, Lotus, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ร่วมประชุม

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการ BKK Food Bank เป็นนโยบายที่ดำเนินการมา 1 ปี โดยใช้วิธีการในรูปแบบ Sandbox ทดลองก่อน สรุปเป็น 2 แบบ ส่วนที่ 1 คือ Food Surplus หรืออาหารส่วนเกิน ส่วนที่ 2 คือ Food Donation คือการบริจาคอาหาร ซึ่ง 2 อย่างนี้ต่างกันมาก เนื่องจาก Food surplus คืออาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันแต่ยังไม่เสียก็จะถูกนำไปจะทิ้ง จึงมีการดำเนินการที่จะส่งต่ออาหารไปให้คนที่ต้องการ โดยมีอยู่ 2 โมเดลที่ทำกับ SOS และ VV Share ที่ช่วยคัดกรองอาหารและระบบการจัดการก่อนนำส่ง ซึ่ง กทม. ดูแลการขนส่งอาหารด้วยรถของเทศกิจไปยังผู้รับในชุมชน โดยนำร่องไปแล้ว 10 เขต ประมาณ 30,000 มื้อ และจะขยายให้ครบ 50 เขตภายในปี 2567

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ระบบการให้ผู้รับไปรับที่ผู้บริจาคเองโดยเขตไม่ต้องใช้รถขนส่งซึ่งจะมีการกำหนดจุดรับอาหารไว้ เบื้องต้นดำเนินการบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตต่างๆ กว่า 9 พันคน ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่ง กทม. ร่วมดำเนินการกับ Lotus ทำไปแล้ว 47 เขต และจะขยายผลให้ครบ 50 เขตต่อไป
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ Food Donation มีคนอยากบริจาคจำนวนมาก ยกตัวอย่างเขตห้วยขวางที่ดำเนินการร่วมกับวัดในพื้นที่ โดยมองว่าวัดมีสังฆทานจำนวนมากโดยเฉพาะวันพระ และพระสงฆ์ไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด สำนักงานเขตห้วยขวาง จึงสร้างสถานที่เพื่อจัดเก็บของบริจาคไว้ที่เขตเพื่อเป็นจุดบริจาคให้ผู้ที่มีความต้องการมารับได้ทุกวันพระ โดยดำเนินการมากว่า 42 สัปดาห์แล้ว ในอนาคตจะขยายให้ครบ 6 กลุ่มโซนในกรุงเทพฯ ให้มีจุดดังกล่าวอย่างน้อย 1 เขต โดยจะรวมเขตพระนครที่ดำเนินการในเรื่องของคนไร้บ้านในปัจจุบันกับส่วนของ Food Donation นี้ด้วย

นอกจากนี้ สำนักพัฒนาสังคมจะนำข้อมูลจากทุกส่วนมาเชื่อมโยงให้เป็นข้อมูลเดียวกัน และในเดือนหน้าจะนำมาข้อมูลมาประชุมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในแต่ละพื้นที่เขตเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ กทม. โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบาย 226 ข้อ ของผู้ว่าฯ กทม. มิติบริหารจัดการดีและมิติสิ่งแวดล้อมดี เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหารและลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารส่วนเกิน โดยมีการเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน.