ข่าวติดตามจีนห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทุกประเภทจากญี่ปุ่น


#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ติดตามผลพวงจากที่ญี่ปุ่นเริ่มทำการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จีนประกาศห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น ในขณะที่ไทยเฝ้าระวังและเข้มงวด โดยมีการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่เข้าอย่างเข้มงวด เพื่อคลายความกังวลของประชาชนต่อความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี

นอกจากนี้เกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊าก็ดำเนินการในลักษณะนี้เช่นกัน โดยเกาหลีใต้มีการสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงทั้งหมดจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดฟุกุชิมะ และสินค้าเกษตร 27 รายการ จากอีก 15 จังหวัด ขณะที่อาหารนำเข้าจากภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นทั้งหมดถูกตรวจสอบสารกัมมันตรังสีอย่างละเอียด ส่วนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดโตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ โทชิกิ อิบารากิ กุมมะ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ รวมทั้งครอบคลุมอาหารทะเลสด แช่แข็ง แช่เย็น แห้ง หรือแปรรูป รวมถึงเกลือทะเลและสาหร่ายทะเล

ก่อนหน้านี้จีนได้เริ่มจำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว จนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาจีนได้ประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ข้อมูลจากเทโคคุ ดาต้าแบงก์  ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดของญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่า ณ ข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีผู้ส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นมากกว่า 700 รายแล้ว ที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 8 ของบริษัทญี่ปุ่นทั้งหมดที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทส่งออกอาหารทะเลไปยังฮ่องกงอีก 316 รายที่ได้รับผลกระทบทันที

โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิเผชิญการหลอมละลายสามครั้งในเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 น้ำที่ใช้เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ผสมรวมกับน้ำฝนและน้ำบาดาล น้ำที่เก็บสะสมไว้นี้ผ่านการบำบัดเพื่อขจัดเอาสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไปแล้ว แต่ยังเหลือทริเทียมอยู่ รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเจือจางน้ำดังกล่าว เพื่อลดระดับของทริเทียมให้อยู่ที่ประมาณหนึ่งในเจ็ดของมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับน้ำดื่มที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก แม้ว่าญี่ปุ่นได้ชี้แจงว่าน้ำที่ปล่อยลงทะเลผ่านการบำบัดซึ่งจากการประเมินจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ภายใต้องค์การอนามัยโลก ค่าการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนการปล่อยน้ำได้รับการอนุมัติจาก IAEA หลังจากที่พิจารณาทบทวนมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ความกังวลของประเด็นดังกล่าวได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เหมือนช่วงเหตุการณ์เมื่อปี 2554 จีน เกาหลีใต้ ที่ได้เคยประกาศงดการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมาแล้ว

ในช่วงนั้นเกาหลีใต้ได้มีคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดฟูกุชิมะ กัมมะ มิยาหงิ อิวาเตะ โทชิกิ ชิบะ และอาโอโมริ โดยเกาหลีใต้ได้เพิ่มมาตรการทดสอบความปลอดภัยในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลโดยต้องมีการปนเปื้อนของรังสีต่ำกว่า 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมจากระดับเดิมที่ 370 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และมาตรการดังกล่าวถือว่าเคร่งครัดกว่ามาตรการเดิมที่ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเล 50 ชนิดจาก 8 จังหวัด โดยเฉลี่ยทั้ง 8 จังหวัดส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปเกาหลีใต้กว่า 5,000 ตันคิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนสินค้าอาหารทะเลที่ส่งออก

“กรมประมงของไทยเฝ้าระวัง” ทางกรมประมงเฝ้าระวังและสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น จากเมืองโตเกียว ฟุกุชิมะ  ชิบะ กุมมะ โทจิงิ อิบารากิ มิยางิ นีงะตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น โดยทำการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวด  ซึ่งจากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่นที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่าง ในปี 2565 จนถึงเดือนเมษายน 2566 พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย

“แนวโน้มจีนต้องการนำเข้าอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งจากประเทศอื่น” ในปี 2565 ญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลไปยังจีน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท จีนถือเป็นตลาดนำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รวมถึงไข่มุก มีมูลค่ารวมประมาณ 18,000 ล้านบาท ประเทศที่ได้อานิสงส์จากการที่จีนห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกประเภทจากญี่ปุ่น คือ รัสเซีย นอร์เวย์ และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะรัสเซีย โดยส่วนใหญ่เป็นปลาพอลล็อก ปลาแฮร์ริง ปลาตาเดียว ปลาซาร์ดีน ปลาคอด และปู

จีนเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลแปรรูปมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการการบริโภค ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารทะเลจากทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาทะเล เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ กุ้งกุลาดำ หอยนางรม ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาหมึก และปู ในปี 2565 จีนมีการบริโภคสัตว์น้ำต่อหัวเฉลี่ยถึง 14.6 กก./คน/ปี และคาดว่าในปี 2569 จะเพิ่มเป็น 23 กก./คน/ปี โดยอาหารที่ทำจากสัตว์น้ำมีแนวโน้มเติบโตและมีช่องว่างในตลาดอีกมาก

ทั้งนี้มองว่าถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเลในกลุ่มประเทศเอเชีย จากข้อมูลวิจัยกรุงศรี ปี 2564 ปริมาณการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งของไทยอยู่ที่ 240.5 พันตัน ปริมาณจำหน่ายโดยรวมทั้งในและต่างประเทศอยู่ที่ราว 562.7 พันตัน คิดเป็นมูลค่าจำหน่ายประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ประเทศไทยจัดเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปโดยรวมรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกในเชิงปริมาณ หรืออันดับ 14 ของโลกในเชิงมูลค่า ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.3 และ 3.0 ของปริมาณและมูลค่าส่งออกอาหารทะเลแปรรูปทั่วโลกตามลำดับ นอกจากนี้ไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง และปรุงสุก/ปรุงรสได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารจากปลา จำพวกปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน และกุ้ง

อย่างไรก็ตามไทยมีข้อจำกัดในเรื่องปัญหาการจับสัตว์น้ำที่เกินขนาดและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยเฉพาะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประเด็นเรื่องการจำกัดโควต้าของทางการในการจับสัตว์น้ำทะเล การลดลงของปริมาณเรือประมงและจำนวนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้งแนวโน้มต้นทุนการผลิตจากกระบวนการแปรรูปที่ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงสูง ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลต่อปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปโดยรวมของไทย

ติดตามดูว่ามาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นดังกล่าวจะขยายผลนานเท่าไหร่ ท่ามกลางความขัดแย้งของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการหาประโยชน์จากเศรษฐกิจทางทะเลในประเทศเอเชีย ส่งผลต่อโอกาสและความจำเป็นที่ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งในตลาดโลกมากขึ้น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *