‘แม้เราจะมีลูก แต่ก็ยังโดดเดี่ยว’ มองสังคมผู้สูงวัยแต่ละประเทศ ผ่าน 8 หนังและซีรีส์


แม้จะมีภาพยนตร์หรือซีรีส์จำนวนไม่มากที่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตหรือบริบทสังคมผู้สูงอายุโดยมีพวกเขาเป็นคนแสดงนำ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้กำกับหยิบเรื่องของพวกเขาในแง่มุมต่างๆ มานำเสนอ ก็มักจะกินใจผู้ชมอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งฟันเฟืองที่ทำให้สังคมดำเนินต่อไปได้ 

และในขณะเดียวกัน การนำเสนอภาพผู้สูงอายุจากฝั่งตะวันตกหรือฝั่งเอเชียที่อยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกันในจอภาพยนตร์ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราได้ทำความเข้าใจกับแนวคิดหรือปัญหาผู้สูงวัยที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญ เพื่อเรียนรู้หรือหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน

คอลัมน์ ‘เนื้อหนัง’ ชวนทุกคนมาร่วมมองประเด็นสังคมผู้สูงอายุผ่าน 8 ภาพยนตร์และซีรีส์ที่ล้วนสะท้อนถึงบริบททางสังคมและการจัดการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้

01 | Plan 75 (2022)
เมื่อญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนอายุ 75 ปี เลือกตายอย่างสมัครใจ
(การการุณยฆาตและสังคมที่ไม่มีโอกาสให้ผู้สูงอายุ)

elder movies

ถ้าพูดถึงหนังที่มีตัวเอกดำเนินเรื่องเป็นผู้สูงอายุในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘Plan 75’ (2022) ที่หยิบจับเอาประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุและการการุณยฆาตมาเล่าผ่านบริบทความเป็นประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเจ็บแสบ จนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์นานาชาติเวทีออสการ์ปี 2023

ผู้ชมจะรับรู้ถึงความยากลำบากของสถานการณ์ผู้สูงอายุประเทศนี้ได้ผ่านการเล่าเรื่องราวสุดดิสโทเปีย เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมาย Plan 75 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป เลือกการุณยฆาตตนเองได้อย่างสมัครใจ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับเงินชดเชยถึง 1 แสนเยน เพื่อหวังแก้ปัญหาตัวเลขผู้สูงอายุล้นเมือง

และจากตัวกฎหมายนี้เองที่ทำให้เราเห็นถึงเบื้องลึกในจิตใจของคนแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่คนที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคม ไปจนถึงตัวผู้สูงอายุบางคนที่มองว่าการการุณยฆาตอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่เป็นเพราะสังคมที่ไม่มีโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตต่างหากที่กำลังบังคับให้พวกเขาเลือกเส้นทางนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

02 | C’mon C’mon (2021)
การออกเดินทางสัมภาษณ์เด็กในอเมริกาของลุงและหลาน
(การมองโลกของคนสองวัยในมุมมองที่แตกต่างกัน)

elder movies

‘เรานึกภาพอนาคตของตัวเองไว้แบบไหน’
‘ถ้าเราสามารถมีพลังพิเศษได้ อยากจะมีอะไร’
‘เรานึกภาพหลังความตายไว้แบบไหน’

‘C’mon C’mon’ (2021) เป็นหนังขาว-ดำที่จะทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้นผ่านการออกเดินทางของลุงและหลาน ผู้ออกไปสัมภาษณ์เด็กๆ ในอเมริกาด้วยชุดคำถามเหล่านี้

มองเผินๆ อาจเป็นคำถามง่ายๆ แต่ด้วยการมองโลกที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝันของเด็กๆ กลับทำให้เราเห็นถึงมุมมองการมองโลกที่แตกต่างกันออกไป

อีกทั้งในระหว่างการเดินทาง ตัวละครสองลุง-หลานยังทำให้เราได้เรียนรู้ถึงเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรักในมุมมองวัยที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการค้นหาความหมายของชีวิต พร้อมสำรวจจิตใจของตัวเราไปพร้อมๆ กัน

03 | I Care a Lot (2020)
มิจฉาชีพที่หากินกับการดูแลและอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ
(การหาประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงวัย)

elder movies

แม้ ‘I Care a Lot’ (2020) จะไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่อย่างหนังโรง เนื่องจากเป็นหนังที่ฉายบนสตรีมมิงออนไลน์อย่าง Netflix แต่ด้วยประเด็นที่เสียดสีสังคมท่ามกลางความตลกขบขัน ก็ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจไม่น้อย

เพราะเป็นการเล่าเรื่องผ่านหญิงสาวมิจฉาชีพ 2 คนที่หากินกับการดูแลและอุปถัมภ์ผู้สูงอายุที่มีฐานะ และไม่มีลูกหลานคอยดูแล โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงวัยในการขอคำสั่งศาลให้ผู้สูงอายุอยู่ภายใต้การดูแลของพวกเธอ จนทั้งคู่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของพวกเขาและฮุบมันเป็นของตัวเอง

ก่อนที่สุดท้ายหนังจะพาเราไปสุดได้มากกว่าที่คิด เพราะหนึ่งในผู้สูงอายุที่เป็นเหยื่อของพวกเธอดันไปรู้จักกับแก๊งมาเฟียรัสเซีย ที่จะกลายมาเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกันและชวนให้ติดตามผลสรุปไปตลอดทั้งเรื่อง

04 | Amour (2012)
บั้นปลายชีวิตในวันที่หนึ่งคนป่วย หนึ่งคนต้องดูแล
(การดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต)

elder movies

‘Amour’ (2012) หนังรักสัญชาติฝรั่งเศสที่กวาดรางวัลทั้งจากคานส์ รางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ และแทบทุกเวทีในยุโรป จนหลายคนยกให้เป็นหนังที่ต้องดูให้ได้สักครั้งในชีวิต เพื่อทำความรู้จัก ‘ความรัก’ ในช่วงบั้นปลายชีวิต

นอกจากประเด็นเรื่องความรักแล้ว ในแง่มุมของการดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะในเรื่องตัวเอกมีอาการเป็นอัมพฤกษ์ซีกขวา และความต้องการของเธอคือการรักษาตัวที่บ้านแทนที่จะเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ทำให้สามีที่เป็นผู้สูงอายุเหมือนกันต้องรับหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเธอด้วยตนเอง

และจากเหตุการณ์นี้เองที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบททดสอบต่างๆ ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ในวันที่หนึ่งคนป่วยและอีกหนึ่งคนต้องดูแล ที่แค่ความรักอาจจะไม่เพียงพอ เพราะการดูแลผู้สูงอายุถือเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก

05 | ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2009)
รักที่อยากลืมกลับจำ รักที่อยากจำกลับลืม
(โรคอัลไซเมอร์กับการปล่อยวางความเจ็บปวด)

elder movies

หนึ่งในหนังไทยที่อยู่ในลิสต์หนังเกี่ยวกับผู้สูงอายุกับเขาด้วย เพราะนี่คือหนังที่มีประโยคน่าจดจำจากคู่รักวัยเก๋าระหว่างป้าสมพิศและลุงจำรัสอย่าง ‘ไม่ลืมไม่มีหรอก มีแต่ลืมช้ากับลืมเร็ว’ ที่แค่ฟังก็ทำเอาน้ำตาคลอไปกับความสัมพันธ์ของพวกเขาได้แล้ว

แม้ ‘โรคอัลไซเมอร์’ จะเป็นประเด็นคลาสสิกที่ถ้าหยิบหนังผู้สูงอายุมาสัก 10 เรื่อง มักมีการพูดถึงโรคนี้ไปแล้วอย่างน้อย 7 เรื่อง แต่สำหรับ ‘ความจำสั้น แต่รักฉันยาว’ ก็ยังเป็นหนังที่บอกเล่าเนื้อหาในประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจผ่านบริบทแบบไทยๆ ที่ใครเห็นเป็นต้องอินตาม

เพราะเราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น รวมถึงปล่อยวางความเจ็บปวดที่ยึดถือเอาไว้ไม่มากก็น้อย แล้วเก็บไว้เพียงความรู้สึกดีๆ ที่เราพบเจอในแต่ละวัน

06 | The Ballad of Narayama (1983)
กฎการทิ้งคนแก่ไว้บนภูเขาเมื่ออายุครบ 70 ปี
(บริบทสังคมญี่ปุ่นในอดีตที่มองคนแก่เป็นภาระ)

elder movies

‘The Ballad of Narayama’ (1983) เป็นภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ และสร้างขึ้นจากตำนานสุดคลาสสิกของประเทศญี่ปุ่นที่ถูกเล่าต่อกันมาในต้นศตวรรษที่ 10 ถึงหมู่บ้านหนึ่งที่มีกฎว่า หากบ้านใดมีผู้สูงอายุที่อายุครบ 70 ปี จะต้องนำไปทิ้งไว้บนภูเขา

ผู้กำกับได้นำเอาตำนานเรื่องนี้มาผสมรวมเข้ากับบริบทสังคมของยุคสมัยเอโดะในช่วงข้าวยากหมากแพง เพื่อสะท้อนถึงความคิดของชาวญี่ปุ่นที่ไม่ให้คุณค่ากับผู้สูงอายุ เนื่องจากมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นภาระ ไร้ความสามารถ และไม่มีประโยชน์

อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เราเห็นถึงสัญชาตญาณดิบในการเอาตัวรอดของมนุษย์ และจารีตประเพณีของสังคมที่บางครั้งขัดต่อหลักศีลธรรมแต่ยากจะขัดขืน เพราะถูกกดดันจากสายตาคนภายนอก

เรียกได้ว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ควรรับชมสักครั้งหากมีโอกาส

07 | Navillera (2021)
นักบัลเลต์มือใหม่วัย 70 ปี ที่กำลังไล่ตามความฝัน
(เมื่อการมีภาระหน้าที่ไม่มีพื้นที่ให้ความฝัน)

elder movies

ถ้าญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่งหนังผู้สูงอายุ เกาหลีใต้ก็คงเป็นเจ้าแห่งซีรีส์เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ตามมาติดๆ ด้วยการวางพลอตและการเล่าเรื่องชวนติดตาม น่าขบคิดตาม

หนึ่งในนั้นคือซีรีส์ใน Netflix เรื่อง ‘Navillera’ (2021) ที่บอกเล่าเรื่องของคุณตาวัย 70 ปี ผู้เพิ่งเริ่มมีโอกาสไล่ตามความฝันในการเป็นนักบัลเลต์หลังเกษียณจากงานประจำในตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์

ความประทับใจที่มีต่อหนังเรื่องนี้ของเราคงหนีไม่พ้นการตีความประเด็นสุดแสนคลาสสิกอย่างเรื่อง ‘ความฝัน’ ออกมาได้ชวนติดตามต่อ พร้อมเอาใจช่วยตัวละครในวันที่เขาหลุดออกจากภาระหน้าที่ที่มากดทับไม่ให้เป็นตัวเองหรือทำในสิ่งที่อยากทำได้อีกต่อไป ถือเป็นการฉายภาพแทนใครหลายๆ คนที่ต้องทำงานหนักไปจนแก่เฒ่า เพียงเพราะมันเป็นงานที่มั่นคงและให้รายได้ที่แน่นอน 

08 | Kkondae Intern (2020)
เมื่อเจ้านายคนเก่ากลายมาเป็นพนักงานคนใหม่
(ระบบอาวุโสในเกาหลีใต้และช่องว่างระหว่างวัย)

elder movies

ปิดท้ายด้วย ‘Kkondae Intern’ (2020) ซีรีส์เกาหลีสไตล์คอเมดี้ที่สะท้อนประเด็นสังคมเรื่องระบบอาวุโสในเกาหลีใต้ และปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ผ่านชีวิตวัยทำงานของ First Jobber ที่มีแต่เรื่องวุ่นๆ เพราะเลือกทำงานที่แรกผิด ทำให้ต้องเจอกับหัวหน้างานหัวโบราณจนทนไม่ไหวต้องลาออก

จากนั้นเขาจึงเริ่มงานใหม่ในบริษัทราเมน และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการขายและการตลาดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับหัวหน้างานคนเก่าที่กลายมาเป็นพนักงานคนใหม่ภายใต้การดูแลของเขา ทำให้เกิดเรื่องวุ่นๆ จากชุดความคิดของคนสองวัยที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

เป็นสถานการณ์ที่ตรงกับคำว่า ‘กนแด’ (Kkondae) ในชื่อเรื่อง ซึ่งเป็นคำสแลงสำหรับอธิบายคนหัวโบราณที่มองว่าความคิดของตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพยายามยัดเยียดความคิดให้กับคนอื่นโดยไม่ฟังเหตุผลใดๆ นั่นเอง

แน่นอนว่าปัจจุบันเหล่าออฟฟิศในหลากหลายประเทศก็กำลังประสบกับความขัดแย้งระหว่างคนทำงานรุ่นใหม่และคนทำงานรุ่นเก่า ที่มีแนวคิดและค่านิยมในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน นี่จึงนำไปสู่การหาวิธีที่จะทำให้คนที่ต่างกันด้วยช่วงวัยและความคิดใช้ชีวิตอยู่หรือทำงานร่วมกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็ล้วนมีส่วนขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยกันทั้งสิ้น

Writer

Graphic Designer


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *