สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ENGY ที่ กฟผ. มอบให้ผู้ใช้งานนั้น มีลักษณะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยทำความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้มากกว่า 150 กิโลกรัม พร้อมทั้งติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อติดตามตำแหน่งของรถ มีระบบควบคุมความปลอดภัย และระบบตัดคันเร่งเมื่อนำขาตั้งลง ทำให้ผู้ขับขี่และผู้รับบริการรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยขณะใช้งาน
นอกจากนี้ กฟผ. ได้ติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) จำนวน 3 แห่ง รอบพื้นที่สำนักงานกลาง กฟผ. ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ., ศูนย์บริการ ENGY Bike Service Point (ใกล้วัดสำโรง) และชุมชนวัดชะลอ โดยแต่ละสถานีบรรจุแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิด Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide (NMC) เพื่อรองรับการใช้งานที่ต่อเนื่องให้สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที ซึ่งเพิ่มความพึงพอใจและความสะดวกต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน เนื่องจากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเดิมใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 3-4 ชั่วโมง อีกทั้ง กฟผ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ENGY Rider” เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานให้ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบแบตเตอรี่ในสถานีสับเปลี่ยน ตรวจสอบระยะทางที่ขับขี่ และแสดงการมีส่วนร่วมลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตามเพื่อต่อยอดโครงการฯ กฟผ. ได้ร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC), บริษัท Dongguan Tailing Electric Vehicle Co., Ltd. (TAILG) ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน และ บริษัท เดอะสตาเลี่ยน จำกัด (Stallions) ผู้ผลิตประกอบและผู้แทนจำหน่าย TAILG ในประเทศไทย มอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวน 50 คัน ให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ แบ่งเป็นในพื้นที่อำเภอบางกรวย จำนวน 29 คัน และพื้นที่เขตบางพลัด จำนวน 21 คัน โดยส่งมอบเมื่อมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป