กรมบัญชีกลางแจงหลักการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกกรณีใช้แอปฯยืนยันตัวตน
กรมบัญชีกลางชี้แจงหลักการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกกรณีเลือกวิธีการใช้สิทธิผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และการใช้ระบบเทเลเมดิซีน การจัดส่งยาทางไปรษณีย์
ตามที่นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความกังวลกรณีกรมบัญชีกลาง ออกระเบียบใหม่ในการจัดส่งยาทงไปรษณีย์ของผู้ป่วยสิทธิข้าราชการว่า ต้องมีการยืนยันตัวตนที่โรงพยาบาล หรือทางแอปพลิเคชัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งทำให้กังวลว่า ผู้ป่วยข้าราชการส่วนใหญ่วัยเกษียณ บางส่วนอยู่คนเดียวไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันได้ ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล สวนทางนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกประชาชนด้วยระบบดิจิทัลเฮลธ์นั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ส่อวุ่น! 1 ต.ค.นี้ กรมบัญชีกลางปรับระเบียบผู้ป่วยข้าราชการ)
เมื่อวันที่ 26 กันยายน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 367 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับช่องทางการยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิ ให้สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันได้
แทนการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง EDC ซึ่งระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตังที่พัฒนาขึ้นนั้น ครอบคลุมไปถึงกรณีการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล และทางสถานพยาบาลจะจัดส่งยาให้แก่ผู้ป่วยทางไปรษณีย์
ปัจจุบันการยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชันสามารถดำเนินการได้ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีระบบการยืนยันตัวตนที่เป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านราย ทำให้กรมบัญชีกลางไม่ต้องพัฒนาระบบขึ้นใหม่ เพื่อใช้ทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิชันเป็นการเฉพาะ และประหยัดงบประมาณภาครัฐ โดยขณะนี้มีสถานพยาบาลให้ความสนใจและทยอยประสานมายังกรมบัญชีกลางแล้ว
“หากสถานพยาบาลใดที่มีการให้บริการการแพทย์ทางไกล แต่ยังไม่สามารถพัฒนาระบบเพื่อใช้สิทธิ
เบิกจ่ายตรงได้ หรืออาจมีแนวทางการยืนยันตัวตนที่เทียบเท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานของแอปพลิเคชันเป๋าตัง สถานพยาบาลสามารถเสนอแนวทางดังกล่าวมายังกรมบัญชีกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปได้” อธิบดีฯ กล่าว
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อให้มีความครบถ้วนในทุกมิติ และอำนวยความสะดวกด้านการเบิกจ่ายตรง เพื่อให้การกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความรวดเร็ว และโปร่งใส หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 127 7000 ในวันและเวลาราชการ ตลอดจนสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล หรือแอปพลิเคชัน CGD iHealthCare โดยดาวน์โหลดฟรีผ่านทาง Play Store สำหรับ Android หรือ App store สำหรับ iOS
เปิดขั้นตอน “ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ” และครอบครัวเข้ารับบริการ รพ.ต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปฯเป๋าตัง และของสถานพยาบาลเพื่อเบิกจ่ายตรง ส่วนใครใช้ระบบเทเลเมดิซีน จัดส่งยาไปรษณีย์ต้องทำผ่านแอปฯเช่นกัน
ตามที่นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความกังวลกรณีกรมบัญชีกลาง ออกระเบียบใหม่ในการจัดส่งยาทงไปรษณีย์ของผู้ป่วยสิทธิข้าราชการว่า ต้องมีการยืนยันตัวตนที่โรงพยาบาล หรือทางแอปพลิเคชัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งทำให้กังวลว่า ผู้ป่วยข้าราชการส่วนใหญ่วัยเกษียณ บางส่วนอยู่คนเดียวไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันได้ ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล สวนทางนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกประชาชนด้วยระบบดิจิทัลเฮลธ์นั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ส่อวุ่น! 1 ต.ค.นี้ กรมบัญชีกลางปรับระเบียบผู้ป่วยข้าราชการ)
ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้รวบรวมแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆของสิทธิข้าราชการ ซึ่งแนบมาพร้อมกับหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0416.4/ว 367ของกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ส่งถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการฯ เลขาธิการ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ ฯลฯ ลงนามโดยน.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง โดยเป็นแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน ที่สถานพยาบาล และกรณีเทเลเมดิซีน รวมถึงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ขณะเดียวกันสำหรับการให้บริการการแพทย์ทางไกลกรณีทำธุรกรรมช่วงสถานสถานการณ์โรคโควิด19 ให้ทำได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2566
แพทย์กังวลระบบซ้ำซ้อน ทำคนไข้งง
แพทย์รพ.แห่งหนึ่งระบุว่า ระเบียบดังกล่าวทำให้ 1 ตุลาคม 2566 การจะดำเนินการทั้งระบบแพทย์ทางไกล และการมารพ.ต้องมีการยืนยันตัวตนทั้งหมด อย่างการบริการการแพทย์ทางไกลกรณีทำธุรกรรมช่วงโควิด ให้ทำได้ถึง 30 กันยายนนี้ หมายความว่าที่ผ่านมาเรามีระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับตรวจวินิจฉัยและจ่ายยาถึงบ้านก็จะทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่โรคโควิด ยกเว้นว่า หากจะทำต้องมีระบบขั้นตอนต่างๆ ซึ่งคนวัยเกษียณหลายคนทำไม่ได้ หลายคนไม่มีลูกหลาน ขณะที่สิทธิบัตรทองยังทำได้หมด อำนวยความสะดวกหมด จึงอยากให้รัฐบาลประสานกรมบัญชีกลางในการทำระบบกลางที่ไม่ต้องยุ่งยากทั้งผู้ปฏิบัติงานในการเพิ่มภาระขั้นตอน กับผู้รับบริการประชาชนสิทธิข้าราชการได้หรือไม่
แนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) แบ่งเป็น
ส่วนผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว
1.ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) ให้แสดงตน ณ สถานพยาบาล และใช้รหัสผ่านในกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังในการทำธุรกรรมการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ต้องเก็บรักษาและไม่เผยแพร่รหัสผ่านในการทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง
2.การเข้ารับการรักษาพยาบาลให้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติของรพ. ซึ่งรพ.อาจกำหนดให้มีผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์จะทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายในของสถานพยาบาลร่วมด้วย โดยหลังจากเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้ว ให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวเข้าสู่กระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังและดำเนินการตามขั้นตอนในแอปพลิเคชัน พร้อมตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการรักษาพยาบาลก่อนยืนยันการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง
3.ให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวทำธุรกรรมเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงทุกครั้งหลังเข้ารับบริการ เมื่อทำเสร็จ แอปฯ จะแสดงหน้าจอข้อมูลสรุป พร้อมกับคำว่าใช้สิทธิสำเร็จ
ส่วนสถานพยาบาล
1.สถานพยาบาลอาจกำหนดให้ทำธุรกรรมผ่านแอปฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายในของรพ.ร่วมด้วย เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการส่งเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง
2.ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องแสดงตน ณ สถานพยาบาล และทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยใช้รหัสผ่านในการทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง
3.สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการแสดงรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลในกระเป๋ษสุขภาพบนแอปฯ เป๋าตัง อย่างน้อยจะต้องปรากฎในรายละเอียดส่วนที่มีผู้มีสิทธิและครอบครัวจะต้องชำระค่ารักษาเพิ่มเติม(ส่วนที่เบิกไม่ได้) เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบและตรวจสอบรายการค่ารักษาพยาบาลได้
4.เมื่อทำธุรกรรมเสร็จ ระบบจะส่งเลขอนุมัติไปยังระบบสารสนเทศของสถานพยาบาล เพื่อให้ใช้ประกอบการส่งข้อมูลเบิกจ่ายตรง
แนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน(Telemedicine) ระบุใจความสำคัญ ดังนี้
-ผู้มีสิทธิข้าราชการ และบุคคลในครอบครัวจะต้องยืนยันการเข้ารับการรักษาพยาบาล (Check-in) ก่อนให้บริการการแพทย์ทางไกล และใช้รหัสผ่านเพื่อทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงหลังให้บริการการแพทย์ทางไกล(Check-out) ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังทุกครั้ง หากไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง ให้เรียกเก็บเงินจากผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว และออกใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้นำไปยื่นขอใช้สิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ณ ส่วนราชการต้นสังกัด
-สถานพยาบาลต้องมีการบันทึกข้อมูลการรักษาพยาบาลในเวชระเบียบหรือระบบข้อมูลของสถานพยาบาลเสมือนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล
-สถานพยาบาลจะต้องเชื่อมต่อระบบสารสนเทศของสถานพยาบาลกับกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อรับ ส่งข้อมูลการใช้สิทธิให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถตรวจสอบยืนยันตัวตนและใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชันได้
-การสั่งยาให้ดำเนินการภายใต้เงื่อนไข อาทิ จัดส่งยาให้กับผู้ป่วยโดยตรง โดยใช้การขนส่งที่มีการลงทะเบียนและมีระบบติดตามพัสดุ เมื่อทำธุรกรรมแล้วเสร็จระบบจะส่งเลขอนุมัติไปยังระบบสารสนเทศของสถานพยาบาล ให้สถานพยาบาลใช้เลขอนุมัติ ประกอบการส่งข้อมูลในระบบเบิกจ่ายตรง
สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
อีเมล: [email protected]
อ่านต่อได้ที่ https://board.postjung.com/1500569