กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว


กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก พร้อมเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโดยใช้กลไกสหกรณ์

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในนสพ.มติชน เดินหน้าชน ปุจฉา “อุ้มข้าว” เกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก เพื่อดูดซับข้าวออกจากตลาดช่วงฤดูกาลผลิต แบ่งเป็นสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกโดยเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง ได้ค่าฝากตันละ 1,500 บาท ซึ่งการรับฝากแบบนี้เหมือนการจำนำข้าว หากราคาข้าวสูงกว่าราคาที่ฝากเก็บ (จำนำ) ชาวนาก็ไปไถ่ถอนออกมาแล้วนำไปขาย จะได้ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนั้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอชี้แจงว่าทั้ง โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวหรือสร้างมูลค่าเพิ่มที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการ ดังนั้นหากเกษตรกรพึงพอใจกับราคาในตลาด ขณะที่ข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงต้นฤดู เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ทันที

ส่วนในประเด็นราคาเป้าหมายที่กำหนดเป็นข้าวเกี่ยวสดความชื้นที่ 25% ทั้งที่ความชื้นอยู่ที่ 15% นั้น โดยทั่วไปแล้ว ข้าวเปลือกที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวในพื้นที่นาก่อนจำหน่ายไปยังคนกลางหรือสถาบันเกษตรกร จะมีความชื้นที่ 26-30 % ซึ่งไม่สามารถเก็บไว้ได้นานหากไม่มีการลดความชื้นลง เหลือระดับที่ต่ำกว่า 17% เกษตรกรจึงมักลดความชื้นโดยวิธีตาก และการตากข้าวเปลือกสดในพื้นที่กว้าง มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนค่อนข้างมาก การซื้อขายข้าวเปลือกในปัจจุบันจึงมักใช้ผู้ให้บริการทางการเกษตรในพื้นที่ (รถเกี่ยว) ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้จะเป็นตัวกลางในการจำหน่ายข้าวเปลือกสดหลังเก็บเกี่ยวทันทีเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการลดความชื้นแทนเกษตรกรต่อไป ซึ่งจะสรุปได้ว่าตลาดข้าวเปลือกนิยมรับซื้อข้าวเปลือกในลักษณะข้าวเปลือกสด ที่มีความชื้นสูง 25-30%

นอกจากนี้ ในเรื่องสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยให้สหกรณ์ไปซื้อข้าวเปลือกแข่งกับโรงสีหรือพ่อค้าข้าวในราคาที่ความชื้น 25% สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3.50-3.85% ระยะเวลา 15 เดือน วงเงินรวม 481 ล้านบาท ที่มีข้อสงสัยว่าสหกรณ์ที่เข้าร่วมมีกี่แห่งที่มีเครื่องอบข้าว และพื้นที่รองรับในการเก็บ นั้น โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตข้าวเปลือก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพ โดยให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรสินค้าข้าวครบวงจรเพื่อให้สหกรณ์ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการจัดทำแผนธุรกิจ และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์กับผู้ประกอบการ อีกทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายสหกรณ์ผ่านการพัฒนาโครงการแบบมีส่วนร่วมของสหกรณ์

โดยเป้าหมายสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 421 แห่ง ในพื้นที่ 60 จังหวัด มีแผนรวบรวมข้าว 4 ล้านตัน ซึ่งในปัจจุบันมีโรงสีที่ใช้งานได้ 126 โรง ใน 123 สหกรณ์ กำลังการผลิตรวม 4,154 ตันต่อวัน มีไซโล 43 แห่ง ศักยภาพการจัดเก็บ 53,600 ตัน ในพื้นที่ 23 จังหวัด 35 สหกรณ์ มีฉาง โกดัง 875 หลัง ศักยภาพการจัดเก็บ 617,840 ตัน ในพื้นที่ 53 จังหวัด 370 สหกรณ์ รวมทั้งลานตาก 712 ลาน พื้นที่ 2,323,677 ตารางเมตร ในพื้นที่ 52 จังหวัด 369 สหกรณ์ และอุปกรณ์อบแห้ง ลดความชื้น 92 แห่ง 13,290 ตันต่อวัน ในพื้นที่ 33 จังหวัด 66 สหกรณ์

สำหรับในประเด็นสหกรณ์ซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด หากทุนรัฐบาลจะชดเชยหรือไม่นั้น สถาบันเกษตรกรเป็นองค์กรของเกษตรกร การดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตจะดำเนินธุรกิจรวบรวมภายใต้มติคณะกรรมการของสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ แล้ว ประกอบกับสหกรณ์มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจทางธุรกิจหรือความต้องการเข้าร่วมโครงการฯ ตามมาตรการที่จัดทำขึ้น ซึ่งถ้าหากเกิดกรณีขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ จึงควรเป็นความรับผิดชอบของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม ส่วนงานภาครัฐยังกังวลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ภายใต้มาตรการ จึงได้จัดเตรียมโครงการอบรมให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในมิติต่างๆ ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นต่อไป

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *