กสทช. – AIS โชว์ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ ด้วย Cell Broadcast Service


จากการตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่อาจเกิดได้ทั้งจากเหตุความรุนแรง  หรือ กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงกรณีไม่คาดฝัน ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของภาครัฐในการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยเพื่อคนไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นำโดย กสทช. และ โอเปอเรเตอร์ ซึ่งเริ่มต้นกับ AIS ล่าสุดได้ดำเนินการทดลอง ทดสอบ ระบบการเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ ผ่านเทคโนโลยี Cell Broadcast Service สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เพื่อเตือนภัยประชาชนในทุกกรณี ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ โดยระบบดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากล

กสทช. - AIS โชว์ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ ด้วย Cell Broadcast Service เชื่อมต่อศูนย์บัญชาการกลางภาครัฐ เพื่อมอบความอุ่นใจประชาชน

ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) กล่าวว่า “ กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม ได้ร่วมทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี), ปภ. กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโครงข่าย อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนในบริเวณนั้นๆ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) เข้ามาสนับสนุน การทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service  ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลร่วมกับ ผู้ให้บริการโครงข่าย อย่าง AIS และทุกราย ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับ ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อให้สามารถใช้เป็นช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” 

ด้าน วรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า กสทช.และเอไอเอส ได้เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที เช่นการแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหว , การแจ้งเตือนภัยสึนามิ และ การแจ้งเตือนเหตุร้ายฉุกเฉิน ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบภาพแจ้งเตือน และ ข้อความแจ้งเตือนพร้อมเสียง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และในอนาคตอาจเพิ่มภาษาเมียนมา เข้ามาด้วย เพื่อให้รองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยให้ได้รับการแจ้งเตือนอย่างเท่าเทียม

กสทช. - AIS โชว์ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ ด้วย Cell Broadcast Service เชื่อมต่อศูนย์บัญชาการกลางภาครัฐ เพื่อมอบความอุ่นใจประชาชน

โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ที่มีฟังก์ชันการทำงาน อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ที่มีฟังก์ชัน เช่น การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

–AOC 1441 เผย 5 เคสรายสัปดาห์ หลอกเทรดหุ้น เคสเดียวกว่า 20 ล้านบาท


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *