รพ.มะเร็งอุดรธานี รักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องโทโมเทอราปี เครื่องแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้(24 ต.ค.2566) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ ขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนด้านโรคมะเร็ง และ สนับสนุนการดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ปัจจุบันโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ มีเทคโนโลยีด้านการรักษาที่ทันสมัย ในการให้บริการกับประชาชน ที่ทั่วถึง เพิ่มความเท่าเทียมและเชื่อมั่นแก่ภูมิภาค
เรืออากาศเอกสมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง รับผิดชอบการให้บริการในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ครอบคลุมเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 ปัจจุบันมีเทคโนโลยี เครื่องฉายแสง โทโมเทอราปี (Tomotherapy) ที่ทันสมัย ซึ่งรุ่นนี้เป็นเครื่องแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษามะเร็งก้อน เพื่อหวังผลหายขาด ทดแทนการผ่าตัด ในกรณีที่ขาดแคลนศัลยแพทย์เฉพาะทาง หรือ สภาพผู้ป่วยไม่พร้อมจะผ่าตัด ตลอดจนรองรับการให้บริการด้านการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งในภูมิภาคอินโดจีน และการพัฒนา Medical Hub ในอนาคต
ด้านนายแพทย์ธราธร ตุงคะสมิต นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานรังสีรักษา กล่าวว่า เครื่องฉายแสงโทโมเทอราปี สามารถเปิดระบบติดตามพิกัดตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ที่มีการเคลื่อนไหวระหว่างการรักษาทำให้การฉายรังสีมีความแม่นยำ ทดแทนการผ่าตัดได้ มีผลลัพธ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT) สามารถเข้ารับบริการด้วยเครื่องโทโมเทอราปี ได้ตามสิทธิการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ทำวิจัยในประเด็น การฉายรังสี SBRT หรือรังสีร่วมพิกัดพร้อมการติดตามการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ : ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากการศึกษาผู้ป่วยมะเร็ง 10 คน พบว่า โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยเทคนิค SBRT ด้วยเครื่องฉายรังสีโทโมเทอราปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยในการกำหนดเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้