“สัปเหร่อ” หนังกระแสแรงแห่งปี ที่ซ่อนสัญญะอยู่ในแต่ละฉากไม่น้อย และหนึ่งในนั้นก็คือ “ข้าวจี่ไหม้” ที่มีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งเมนู “ข้าวจี่” นั้นเป็นอาหารพื้นบ้านอีสานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
หลังจากเข้าฉายเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” ยังเป็นกระแสแรงอย่างต่อเนื่อง และถูกพูดถึงในทุกแง่มุม
“สัปเหร่อ” ภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ภาคแยกในจักรวาลไทบ้านเดอะซี่รี่ส์ เป็นเรื่องราวเล่าชีวิตของ “เจิด” หนุ่มวัย 25 ปีที่เรียนจบกฎหมาย หวังไปสอบเป็นทนายหรือปลัดอำเภอ แต่พ่อที่ทำอาชีพสัปเหร่อมีอาการป่วย เขาจึงต้องมาช่วยทำงานแทน ทั้งที่กลัวผีมาก อีกด้านหนึ่ง เล่าชีวิต “เซียง” ชายหนุ่มที่ยังทำใจไม่ได้ เพราะแฟนเก่า “ใบข้าว” ได้เสียชีวิตไป จึงพยายามหาวิธีด้วยการศึกษาทฤษฎีต่างๆ เพื่อที่จะได้พบเธอในโลกหลังความตาย แต่กลับไปพบพ่อของเจิดที่รอการทำพิธีถอดจิตไปโลกความฝัน ซึ่งพ่อเจิดเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถทำพิธีถอดจิต เลยนำมาสู่ข้อแลกเปลี่ยน เซียงต้องมาช่วยเจิดทำอาชีพสัปเหร่อ สุดท้ายทุกอย่างมีเวลาของมัน มันคือธรรมชาติของความจริง ทุกคนเรียนรู้และเข้าใจการยื้อและการเสียคนที่รักจากไป
หลังจากหนังเข้าฉาย ชาวเน็ตต่างวิเคราะห์ฉากต่างๆ และคาดเดาความหมายในแต่ละตอน ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ “ต้องเต-ธิติ ศรีนวล” ก็ได้ออกมาเฉลยสัญญะที่ซ่อนอยู่ในหนังกว่า 15 จุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ข้าวจี่ไหม้”
“ข้าวจี่ไหม้
ยายที่แก่ชราตาแทบมองไม่เห็น แก่จนไม่รู้ความสุกพอดีกินของข้าวจี่ รู้แค่ว่าห่วงลูกหลาน ไม่สนใจว่าลูกหรือหลานตัวเองจะทำผิดหรือทำไม่ดีมาขนาดไหน รู้แต่ว่าอยากดูแลเขา มอบความรัก มอบความห่วงใย มอบความอบอุ่น / บางครั้งเราอาจแค่อยากกินข้าวธรรมดากับคนในครอบครัวธรรมดา ที่แสนจะพิเศษแค่นั้นเองครับ /นี่อาจเป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่แท้จริงของคนที่อยู่ข้างๆ ความรักต้องรักษาด้วยความรัก” (ข้อความจาก Facebook : ต้องเต ต้องเต ธิติ)
สำหรับ “ข้าวจี่” นั้นเป็นอาหารพื้นบ้านของภาคอีสานและภาคเหนือ ที่กินกันมานานแล้ว ทำจากข้าวเหนียวนึ่งทาเกลือ ปั้นเป็นก้อนกลมหรือแบน นำไปย่างบนเตาถ่านโดยใช้ไฟอ่อน พอเริ่มเกรียม นำมาชุบไข่แล้วกลับไปย่างใหม่ให้เหลืองหอม บางครั้งมีการยัดน้ำตาลอ้อยเข้าไปด้านใน น้ำตาลจะละลายเป็นไส้ให้มีความหวานนิดๆ ตัดกับความมันเค็มของข้าวจี่ ที่มีกลิ่นหอมของไข่ หรือหากไม่ยัดไส้น้ำตาลอ้อย ก็สามารถกินเปล่าๆ หรือจิ้มกินกับแจ่วบอง ปลาร้าบองก็ได้
(สำหรับที่ภาคเหนือ ข้าวจี่ไม่นิยมชุบไข่ แต่จะนำข้าวเหนียวทาน้ำมันหมูและเกลือ นำไปย่าง อาจกินคู่กับน้ำพริกตาแดง)
ชาวอีสานนิยมกินข้าวจี่เป็นอาหารว่างในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ได้ออกมานั่งผิงไฟในลานกว้างหน้าบ้าน นำก้อนข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ นึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อน จุ่มไข่แล้วย่างให้หอมๆ นอกจากจะอิ่มอุ่นท้องยามเช้าแล้ว ยังสามารถเก็บไว้เป็นเสบียงเวลาเดินทางไกลหรือต้องออกไปท้องไร่ท้องนา เพราะเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งวัน
มีการทำบุญข้าวจี่ ในประเพณีฮีตสิงสองของทางภาคอีสาน ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา กล่าวว่า นางปุณณทาสี ทำขนมแป้งจี่ถวายพระพุทธเจ้า และเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า นางก็บรรลุโสดาบันปัตติผลด้วยอานิงสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่
ชาวอีสานจึงมีความเชื่อว่า การถวายข้าวจี่นั้นจะได้รับอานิสงส์มาก จึงปฏิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่า ประเพณีบุญข้าวจี่ หรือ บุญเดือนสาม
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline