คนกรุงไม่ขยับสูง 79% ชี้ออกกำลังกายประจำ แต่นั่งนานก็เสี่ยงสุขภาพ แนะหยุดใช้จอเป็นระยะ



กรมอนามัย เผยผลวิจัยชาวกรุง กิจกรรมทางกายพอร้อยละ 83 แต่ยังมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงถึงร้อยละ 79 ชี้ออกกำลังกายประจำ แต่ยังนั่งนาน ไม่ขยับ ก็เสี่ยงสุขภาพ เหตุใช้ชีวิตเร่งรีบ นั่งทำงานประจำ แนะหยุดใช้จอเป็นระยะ ขยับระหว่างวันมากขึ้น เสนอส่งเสริมสภาพแวดล้อมเอื้อมีกิจกรรมทางกาย

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศึกษาวิจัย เรื่อง รูปแบบและความสัมพันธ์ของการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งนาน) ของประชาชนใน กทม. จำนวน 3,137 คน พบว่า ชาวกรุงมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 83 แต่ยังพบมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร้อยละ 79 หมายถึง แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ หากในวิถีชีวิตประจำวันไม่ขยับหรือนั่งนาน ก็ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และพฤติกรรมดังกล่าวยังมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าจำนวนประชาชนทั้งประเทศ ในทางกลับกัน การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี คือ กิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งต่ำ ของคน กทม.มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น


“สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเร่งรีบในวิถีชีวิต นั่งทำงานประจำ และใช้อุปกรณ์จอ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็บ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาทิ เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น รวมทั้งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ คือ ขยับร่างกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย150 นาทีต่อสัปดาห์ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ นั่งให้น้อยที่สุดในแต่ละวันเท่าที่สามารถทำได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ด้าน นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผอ.กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯ มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัย ในรูปแบบต่างๆ พร้อมจัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561 – 2573 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเขตเมือง กรมอนามัยแนะนำให้จัดกิจกรรมเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทั้งในเวลาทำงานและเวลาว่าง หยุดหรือลดการใช้จอเป็นระยะๆ เช่น ใช้โปรแกรมเตือนเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อขยับร่างกายและมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการออกแบบเมืองให้ประชาชนเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้า หรือสวนสาธารณะได้สะดวกมากขึ้นด้วยการเดิน เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน กรมอนามัยยังคงยึดหลักการจากองค์การอนามัยโลก คือ ทุกการขยับนับหมด (every move counts) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *