คอลัมน์ผู้หญิง – คำถามที่มักพบบ่อยจากคลินิกฉุกเฉิน ตอนที่ 2 (ตอนจบ)


วันนี้ เรามาคุยกันถึง เหตุการณ์และคำถามที่พบได้บ่อยในคลินิกฉุกเฉิน จากแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ กันต่อครับ

@เหตุใดจึงห้ามป้อนยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอลกับแมว 

สาเหตุที่ห้ามป้อนยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอลในแมวเนื่องจาก แมวมีระดับของเอ็นไซม์ UDP-glucoronosyltransferase(UGT) ที่ต่ำกว่าในคนและสุนัข ซึ่งเอ็นไซม์นี้มีผลต่อการเมตาบอลิสมของยาพาราเซตามอล ตัวยาจึงไม่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้ และทำให้เกิดการเป็นพิษขึ้น เช่น การขนส่งของออกซิเจนในเลือดลดลง เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งอาการผิดปกติจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา เช่น หน้าบวม หายใจลำบาก เยื่อเมือกเป็นสีแดงคล้ำจนถึงสีม่วง อาเจียน และมีอาการชักจนทำให้เสียชีวิตได้ 

@คุณสมบัติของแมวที่จะเป็นแมวผู้ให้เลือดเป็นอย่างไร

ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องน้องแมวที่ประสบอุบัติเหตุ หรือมีสภาพที่ต้องการรับเลือดทดแทนจำนวนมาก ดังนั้นหากแมวของท่านมีสุภาพแข็งแรง จึงแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าควรบริจาคเลือดเพื่อเป็นเลือดสำรองให้กับแมวป่วยรายอื่นๆ ซึ่งแมวที่จะมาเป็นผู้ให้นั้นควรมีลักษณะดังนี้

– อายุระหว่าง 1-7 ปี

– มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม

– ผ่านการทำวัคซีนรวมประจำทุกปี และเลี้ยงในระบบปิด

– มีสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัว

– มีผลเลือดทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ 

– ไม่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น โรคลิวคีเมีย และโรคเอดส์แมว

@โรคหัดในแมว กับโรคหัดในสุนัขเหมือนกันหรือไม่ มีความรุนแรงต่างกันอย่างไร

ทั้งโรคหัดแมวและโรคหัดสุนัขนั้น แม้จะมีชื่อเหมือนกัน แต่เป็นโรคที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากโรคทั้งสองเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิด และมีอาการที่แสดงออกไม่เหมือนกันด้วย โดยในแมวจะก่อให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง มีการเสียน้ำ และเสียชีวิตได้ในไม่กี่วัน  ส่วนโรคหัดในสุนัข จะมีอาการแสดงออกในหลายๆ ระบบของร่างกาย เช่น 

1.ระบบทางเดินหายใจ มีอาการปอดอักเสบติดเชื้อ

2.ระบบประสาท มีอาการชัก 

3.ระบบปกร่างกาย อาการนูนแข็งของแผ่นเท้าหรือจมูก 

4.ระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องเสีย จนเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยแยกโรคได้ด้วยชุดตรวจและ PCR

@ ภาวะน้ำท่วมปอด กับ ภาวะมีน้ำในช่องอก แตกต่างกันอย่างไร

ภาวะน้ำท่วมปอด คือภาวะที่มีน้ำอยู่เนื้อปอด เปรียบเสมือนฟองน้ำที่ซับน้ำไว้ ไม่สามารถเจาะระบายได้ ซึ่งแตกต่างจากภาวะมีน้ำในช่องอก โดยภาวะมีน้ำช่องอก น้ำจะอยู่ในช่องว่างระหว่างเนื้อปอดและผนังช่องอก จึงสามารถเจาะระบายได้

@หากสัตว์เลี้ยงถูกสัตว์มีพิษกัด เช่น งู ควรขันชะเนาะหรือไม่

ไม่ควรขันชะเนาะในสัตว์เลี้ยงที่ถูกสัตว์มีพิษกัด เนื่องจากจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง มีโอกาสเสี่ยงทำให้อวัยวะส่วนปลายเสียหายได้

ควรทำความสะอาดบริเวณบาดแผลด้วยน้ำสะอาด ให้สัตว์อยู่นิ่งๆ แล้วรีบนำสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด และหากเป็นไปได้ให้นำสัตว์มีพิษนั้นๆ หรือจดจำลักษณะของสัตว์มีพิษนั้นๆ มาแจ้งคุณหมอด้วย เผื่อจะได้ให้เซรั่มแก้พิษงูได้ตรงกับชนิดของงูที่กัด

@ภายหลังจากฉีดวัคซีน เจ้าของจะสังเกตอาการแพ้วัคซีนอย่างไรได้บ้าง

อาการแพ้วัคซีน จัดเป็นอาการฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงแต่ละตัวไม่ได้มีอาการแพ้วัคซีนที่เหมือนกัน เพราะในสัตว์บางตัวสามารถแสดงอาการได้หลากหลายรูปแบบ โดยตัวอย่างอาการที่ไม่รุนแรง เช่น หน้าบวม ผื่น ลมพิษ บางตัวอาจแสดงอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบาก และบางรายรุนแรงถึงขั้นเข้าสู่สภาวะช็อกได้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่จำเป็นว่าสัตว์จะต้องแสดงอาการทุกอย่างที่กล่าวมาให้เห็น อาจเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว สัตวแพทย์จะให้นั่งที่โรงพยาบาลหลังฉีดวัคซีนระยะหนึ่ง เพื่อสังเกตอาการแพ้อยู่แล้ว แต่อาการแพ้สามารถเกิดได้ทันที หรือแม้กระทั่งหลังฉีดวัคซีน 2 ชั่วโมงดังนั้นเจ้าของควรต้องทราบอาการแพ้วัคซีนไว้ด้วยเพื่อที่จะรักษาได้อย่างทันท่วงที 

หมอโอห์ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร 

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *