
“แมนสรวง” แห่งค่าย “Be On Cloud” สร้างปรากฏการณ์ให้วงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ทั้งกระแส รายได้ที่แตะ 33 ล้านบาท และทำลายสถิติจองตั๋วมากที่สุดในรอบ 20 ปีของภาพยนตร์ไทย เป็นหนึ่งผลงานที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพร้อมคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” อีกครั้ง
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ปอนด์-กฤษดา วิทยาขจรเดช” ผู้กำกับร่วมและผู้บริหารค่าย เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ ซีรีส์ และซีรีส์วายไทย หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ประเทศกำลังขับเคลื่อนและพูดถึงกันอย่างดาษดื่น
ปอนด์ กฤษดา กล่าวว่า หนังไทยทุกวันนี้ซบเซามาก คิดเป็นเพียง 11% ของหนังที่คนไทยดู บางเรื่องเข้าโรงได้เงินแค่ 3,000 บาทก็มี ถามว่าทำไมหนังไทยไม่ไประดับโลก ก็ต้องย้อนดูว่าเราเปิดใจหรือยัง บางคนอาจจะผิดหวังกับหนังไทยบางเรื่อง แต่อย่างน้อยอยากให้เข้าไปดูและติชมกันอย่างสร้างสรรค์
ปอนด์เล่าย้อนถึงตอนทำ “คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์” ที่ฉายเมื่อปีก่อน และสร้างกระแสในระดับโลกจนถึงสามารถจัดคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์โดยคนไทยได้ว่า เกือบขาดทุน มันเป็นเรื่องทั้งระบบ คอนเทนต์ไทยไม่ได้ถูกซื้อหรือเสนอราคามากพอที่คนทำจะทุ่มทุนสร้างขนาดนั้น ที่มีกำไรได้เพราะทำคอนเสิร์ตและต่อยอดจากซีรีส์
ถ้าทำซีรีส์หรือภาพยนตร์อย่างเดียวอยู่ไม่ได้ คนดูไม่ผิดที่จะตั้งคำถามว่าทำไมคนทำไม่ลงทุน เพราะลงทุนมากแต่รีเทิร์นต่ำ ยิ่งซีรีส์วายเริ่มมีเยอะขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงเกินไป ซีรีส์วายต่อให้ดังขนาดไหนก็ถูกตีกรอบเงินทุน ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลีที่ทั้งโลกพร้อมจะจ่ายในราคาที่คุ้มมาก
หนังสร้างอะไรได้มากกว่าที่คิด
ผมอยากทำให้เห็นว่าภาพยนตร์สามารถสร้างอะไรได้มากกว่าการดูในโรงแล้วจบ มันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในองค์รวมได้ ต่อให้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ เช่น ผมนำแมนสรวงเข้าไปคอลแลบส์กับร้านต่าง ๆ ในทรงวาด เพราะต้องการให้เม็ดเงินเกิดขึ้นกับคนและผู้ประกอบการตรงนั้น
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }
ผมมีความเชื่อกับการท่องเที่ยวไทยมาก เมืองไทยมีครบทุกอย่าง ภาพยนตร์ก็น่าจะขับเคลื่อนตรงนี้ได้ ไม่ต่างจากชีวิตกลางคืนและเรื่องอาหาร เหมือนที่เราไปตามรอยซีรีส์เกาหลี เชื่อว่าทุกภาคส่วนพยายามทำอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปธรรมขนาดนั้น
ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องที่พูดกันทุกวัน แต่ต้องทำกันในองค์รวม ไม่ใช่เเค่ผู้ผลิต ศิลปิน หรือคนดู ภาครัฐต้องเอื้อด้วยซึ่งไม่ใช่แค่การให้ทุน แต่รวมถึงด้านภาษีต่าง ๆ เพื่อให้คนในธุรกิจนี้ทำงานง่ายขึ้น ได้รับการสนับสนุนทางตรงและทางอ้อม
ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคนไทยไม่ภูมิใจสิ่งที่มี เราจะเรียกร้องอย่างเดียวไม่ได้ ต้องออกมาทำอะไรบางอย่างด้วย เช่น การสนับสนุนของแฟน ๆ แมนสรวง เราเห็นว่าถ้าคนรุ่นใหม่มีกระบอกเสียง มีโซเชียลมีเดีย คนรุ่นเก่าก็มาร่วมได้ มันจะดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างแบ่งแยกกันอยู่ ต้องพูดถึงวัฒนธรรมที่เคยมี และวัฒนธรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
ใครมาเมืองไทยก็มองว่าเป็นส่วนผสมทางวัฒนธรรมที่ลงตัว เรามีทั้งวัดพระเเก้วที่งดงาม ขณะที่ชีวิตกลางคืนก็สนุกมาก เดินไปทางไหนก็มีของกิน เราจะทำอย่างไรให้ต่างชาติรู้ถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แน่นอนมันทำไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 300px;
min-height: 250px; } }
ผมคาดหวังกับรัฐบาลใหม่มาก ว่าจะเล็งเห็นตรงนี้ คนไทยเก่ง ทำอะไรก็สนุก ฉลองได้ทุกเทศกาล หมายความว่า ชาติไหนก็สามารถฉลองกับเราได้หมด แต่สิ่งนี้มันถูกนำเสนออย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง ของเราส่วนมากมันก็เป็นกระเเสวูบวาบ คำว่าวัฒนธรรมไทยที่ผ่านมามันถูกทำให้เข้าใจยาก
ตลาดโลกและ “คนกอง”
เวลาทำหนังหรือซีรีส์ เช่น แมนสรวง ผมต้องมองไปตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรก ในไทยอย่างเดียวไม่พอ มาตรฐานที่ทำเราสามารถไปต่างประเทศได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะของเราไม่ใช่หนังตลาด
หนังตลาดในบ้านเราคือ หนังผี หนังตลก หลายคนบอกว่าถ้าทำสองอย่างนี้จะขายง่ายมาก ของเราอาจเข้าใจยาก และยิ่งมีวัฒนธรรมไทยเข้าไปก็ไม่ได้หมายถึงทั่วโลกจะยอมรับ แต่ต้องสู้ เพราะเรายังดูวัฒนธรรมต่างชาติได้เลย
แต่โลกเปิดรับไทยมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราไม่มีทางเห็นศิลปินไทยไปร่วมงานต่างประเทศมากมายขนาดนี้ แต่มันไปได้อีก ผลตอบแทนที่ย้อนกลับมายังไม่พอที่จะส่งเสริมทุกอย่างได้
ถ้าไม่ได้การยอมรับจากตลาดโลก เราจะไม่สามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิต “คนกอง” ได้ ตลาดโลกจะจ่ายมากพอที่เราจะนำมาตรฐานโลกมาใช้กับคนกอง ทั้งชั่วโมงการทำงานและรายได้ที่สมเหตุสมผล ถ้ากินแต่ความฝัน ชีวิตจริงอยู่ไม่ได้ คนไทยเก่ง ๆ ถึงไปทำงานกับหนังต่างชาติเยอะ เพราะเขามีชีวิตที่ดีกว่า
เราได้เหรียญทองโอลิมปิก นางงามได้มงเวทีระดับโลก ทุกคนภูมิใจ ภาพยนตร์และซีรีส์วายก็เป็นตัวเเทนประเทศไทยได้เหมือนกัน ทำไมความภูมิใจเกิดแค่เฉพาะกลุ่ม ทำไมเราถูกมองข้าม
เราเอาภาษาไทย เพลงไทย รำไทยไปโชว์ แต่ไม่มีใครพูดถึงวงการนี้ บอกเเค่ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มเป็นกระแส แล้วก็หายไป ทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศมีคอลัมน์เขียนถึงเราเยอะมากว่าคอนเทนต์ไทยกำลังมาแรงในกระเเสโลก
กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุน
ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการให้ขอทุน สิ่งที่เราอยากได้คือคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เพราะที่ผ่านมันไม่เป็นรูปธรรม
ก่อนเจอกระทรวง หลายคนบอกเดี๋ยวโดนเซ็นเซอร์บ้าง ไม่ผ่านบ้าง ซึ่งผมก็ยังไม่โดน หรือจริง ๆ เราคิดไปเอง คณะกรรมการตั้งใจฟังเรานำเสนอมาก ถ้าผมไม่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง คงต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่าเพราะอะไร เพราะสิ่งที่กำลังทำมันคือวัฒนธรรมชัด ๆ
เพียงเล่าความรักและความเชื่อต่อวัฒนธรรมในแบบเราให้เขาฟัง วัฒนธรรมไม่ควรเล่าตามขนบ ควรให้คนรุ่นใหม่หยิบจับปรับเเต่งบ้าง แต่ไม่ตีตกคนรุ่นเก่า ควรเรียนรู้กัน พอจูนกันได้ก็จะเกิดเป็นภาพยนตร์แนวใหม่ที่เล่าวัฒนธรรมได้โดยไม่ต้องเรียบร้อยแบบเดิม
แมนสรวงได้ทุนมา 9 ล้านบาท ไม่ได้เยอะถ้าเทียบกับทุนสร้างทั้งหมด เราแค่ต้องการคำยืนยันจากกระทรวงว่าจะสนับสนุน เพราะนี่คือวัฒนธรรมที่คุณภูมิใจ คือการนำภาษีมาใช้ถูกทาง และนำมาต่อยอดเพื่อจะผลักดันให้เกิดผล