จนท.ระดับสูง EU ชี้ ‘อิสราเอล’ สั่งตัดน้ำ-ไฟฟ้า-อาหารพลเรือน 2.3 ล้านคนในกาซา ‘ผิดกม.ระหว่างประเทศ’



โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง ออกมากล่าวหารัฐบาลอิสราเอลว่า “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ด้วยการปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งรวมถึงการตัดน้ำ ไฟฟ้า และอาหารสำหรับพลเรือนกว่า 2 ล้านคนที่นั่นเพื่อแก้แค้นปฏิบัติการโจมตีของกลุ่มฮามาส

ถ้อยแถลงของ บอร์เรลล์ มีขึ้นหลังจากที่อียูได้เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือผลกระทบของสงครามอิสราเอล-ฮามาสวานนี้ (10 ต.ค.) โดยเขายืนยันว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอียู “ส่วนใหญ่” ยังคงสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ซึ่งควบคุมดูแลเขตเวสต์แบงก์ต่อไป

ก่อนหน้านั้น 1 วัน โอลิเวอร์ วาร์เฮลยี กรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นนักการทูตชาวฮังการี ได้ออกมาประกาศว่าอียูจะระงับเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาทั้งหมดต่อปาเลสไตน์ ซึ่งทำให้รัฐบาลยุโรปหลายชาติออกมาโต้แย้งจนกระทั่งคณะกรรมาธิการยุโรปเองต้องประกาศเพิกถอนถ้อยแถลงดังกล่าว

บอร์เรลล์ ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลและปาเลสไตน์เข้าร่วมพูดคุยผ่านระบบวิดีโอลิงค์ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมัสกัตของโอมาน ทว่า เอลี โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการประชุมซึ่งจะมี ริยาด อัล-มาลิกี รัฐมนตรีต่างประเทศของปาเลสไตน์อยู่ด้วย และสุดท้ายกลายเป็นว่าไม่มีผู้แทนจากทั้ง 2 ฝ่ายเข้าประชุมเลย

บอร์เรลล์ ได้เอ่ยย้ำคำประณามของอียูต่อปฏิบัติการโจมตีของกลุ่มฮามาส ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลไปแล้วกว่า 1,000 คน และส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงอียูผู้นี้เตือนว่ามาตรการตอบโต้ของอิสราเอลซึ่งสังหารพลเรือนปาเลสไตน์ในกาซาไปแล้วอย่างน้อย 770 คน จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และการที่อิสราเอลใช้วิธีปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ก็ถือว่าผิดหลักสากล

“อิสราเอลมีสิทธิ์ป้องกันตนเอง แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม ซึ่งการตัดสินใจบางอย่างของพวกเขาขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” บอร์เรลล์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังอ้างคำแถลงจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ระบุว่า “การตัดน้ำ ไฟฟ้า และอาหารต่อพลเรือนจำนวนมาก ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ”

รัฐบาลอิสราเอลออกมาวิจารณ์คำแถลงของยูเอ็น พร้อมตำหนิข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นที่ไม่ยอมออกมาตราหน้าฮามาสว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”

บอร์เรลล์ เน้นย้ำว่า อียูไม่ได้ให้ความร่วมมือต่อกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซา และถูกอียูขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย แต่ยืนยันว่าอียูยังจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อพลเรือนปาเลสไตน์ผ่านทางองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์

“การใช้บทลงโทษแบบเหมารวมต่อพลเรือนปาเลสไตน์ทั้งหมดย่อมไม่เป็นธรรม และจะไม่ก่อให้เกิดผลดี” เขากล่าว

อียูซึ่งมีรัฐสมาชิก 27 ประเทศถือเป็นผู้สนับสนุนความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดต่อปาเลสไตน์ในปัจจุบัน โดยในปีที่แล้วมีการมอบเงินสนับสนุนราว 283 ล้านยูโรต่อองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ตลอดจนโครงการความช่วยเหลืออื่นๆ

ที่มา: รอยเตอร์


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *