
“จักรพันธุ์ ยมจินดา” ตำนานจอแก้วแห่งยุค 90s เล่าประสบการณ์เป็นผู้ประกาศข่าว แฟน ๆ แห่ชม จำน้ำเสียงได้ไม่ลืม ในงาน FEE:D RETRO Music Talk Food Book Trip #90sไม่นานมานี้ จัดเต็มความสุข ความรื่นรมย์ ยุค 90s แบบครบวงจร ทั้งดนตรี เสวนา อาหาร หนังสือ และทัวร์ย่านกรุงเก่า ที่มิวเซียมสยาม งานมีถึง 26 พ.ย.นี้
วันที่ 25พฤศจิกายน 2566 “FEE:D” ผู้ผลิตคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือมติชน ภูมิใจนำเสนอ “FEE:D winter fest” ร่วมย้อนวัยไปวันวานกับยุค 90s ในงาน “FEE:D RETRO Music & Food Fest” #90sไม่นานมานี้ เริ่มแล้ว ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ณ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
โดยเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา “จักรพันธุ์ ยมจินดา” ตำนานผู้ประกาศข่าวแห่งยุค 90s ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และเล่าเรื่องราวบนจอแก้วในยุค 90s บรรยากาศเต็มไปด้วยแฟน ๆ ที่มารอชมกันอย่างคับคั่ง
ฝันอยากเป็นนักพากย์หนัง
จักรพันธุ์ เริ่มต้นด้วยการอ่านข่าวกับน้ำเสียงที่คุ้นเคยให้แฟน ๆ ได้หายคิดถึง พร้อมเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดประสบการณ์ในวงการข่าวยุค 90s ว่า
จุดเริ่มต้นก่อนอ่านข่าว ตอนแรกเริ่มพากย์หนังก่อนกับช่อง 3 เพราะฝันอยากเป็นนักพากย์หนัง ไม่ได้ฝันเป็นผู้ประกาศข่าว เพราะชอบไปดูหนังกลางแปลง อยากเป็นนักพากย์ ต้องหัดอ่านหนังสือให้คล่อง หัดทำเสียงเล็กเสียงน้อย อ่านหนังสือทุกประเภท ผมหนังสือพิมพ์อ่านทุกหน้าเพราะได้ความรู้และเกิดความคล่องในการอ่าน ซ้อมไปในตัว
วันหนึ่งกรมประชาสัมพันธ์ประกาศรับสมัครผู้อ่านข่าว แต่ต้องไปอยู่ภาคเหนือ ผมก็ขึ้นไปสมัคร และไปสอบที่ลำปาง ก็สอบอ่านข่าวพระราชสำนักต่อหน้ากล้อง อ่านไปครึ่งหน้า กรรมการบอกไม่ต้องอ่านแล้ว
ตอนแรกคิดว่าแย่ มาตั้งไกลจากบ้านที่ระยอง พอออกมากรรมการบอกว่า หลายปีแล้วไม่เคยเจอคนอ่านข่าวเก่งแบบนี้ สุดท้ายสอบได้ที่ 1 รับ 3 คนจาก 200 กว่าคน ก็ได้อ่านข่าวทีวีที่ลำปาง
ภาษาไทยไม่ใช่เรื่องง่าย อ่านครั้งแรกทำไมเราผิด ทั้ง ๆ ที่ก็อ่านหนังสือและเรียนรู้มาตั้งเยอะ คำหลาย ๆ คำที่มันติด ๆ กัน สมัยนั้นบางคนอ่านไม่ได้ ผมก็อ่านไม่ได้ แต่เราก็ฝึกอ่านคำเดียวตั้งแต่เช้ายันมืด จนอ่านได้ สมัยก่อนการอ่านข่าวเหมือนนกแก้วนกขุนทอง ไม่เหมือนปัจจุบันที่เป็นการเล่าข่าว
แต่เราอยากพากย์หนังเลยไปแอบดูห้องพากย์หนัง จนเขาให้พากย์ แต่เรื่องแรกเขาบอกให้พากย์เป็นม้าก่อน เพราะเสียงยังไม่เหมาะจะพากย์คน
กีฬา ก็เริ่มพากย์ที่ลำปาง เพราะคนพากย์ฟุตบอลเขาขาดพอดี คู่แรกที่พากเลยคือ แมนฯ ยูฯ กับลิเวอร์พูล แต่ไม่ใช่ถ่ายทอดสด มาเป็นฟิล์ม และส่งมาเมืองไทย ฉายช่อง 9 ก่อนค่อยส่งไปต่างจังหวัด กว่าลำปางจะได้พากย์ เตะไปแล้ว 1 เดือน
ต้องลองพากย์ประกอบไปด้วย รอบเเรกยังงง ๆ แต่รอบต่อไปเริ่มรู้จัก ดูไป 20 รอบกว่าจะฉายจริง ฟิล์มเกือบขาด แต่พอปล่อยออกสู่สาธารณชนแล้ว ก็ได้เสียงปรบมือ เพราะเราซ้อมหนัก
การอ่านข่าวยุคนั้นเราต้องพิมพ์หัวข่าวใส่ออโต้คิว เพราะคนอ่านจำไม่ได้ ต้องอ่านจากบทข่าวที่เราทำ และเราก็ใส่ลูกเล่น หน้าตา น้ำเสียงเข้าไป ให้ดูเหมือนไม่อ่าน แต่เราก็ต้องเข้าใจข่าวด้วย ถ้าอยู่กับข่าวทั้งวันจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ต่างกับวันนี้เฟคนิวส์เยอะ ใครก็เป็นผู้สื่อข่าวได้ เพราะทุกคนมีมือถือ ถ่ายได้ทันทีในที่เกิดเหตุ ส่งกันต่อ ๆ และทีวีก็เอาไปฉาย
กลับเข้ากรุง สู่ช่อง 7
จักรพันธุ์ เล่าว่า สุดท้ายก็ลาออกจากลำปาง ช่อง 3 ประกาศรับนักพากย์ ก็ไปสมัครสอบได้ที่ 1 เช่นกัน แต่ต้องนั่งรถไปทำงานที่หนองแขม พากย์จนเวลา 02.00 น. กว่าจะถึงบ้านก็ 05.00 น. กลับกับรถบริษัท แถมเข้าไปใหม่ได้ค่าพากย์แค่ครึ่งเดียว
อยู่ช่อง 3 ทำงานมาหลายปี จนได้เล่นละครด้วย แต่เล่นได้แค่ 2 ตอน เรื่อง “ปีกทอง” ก็เลิก เพราะทำไม่ถูก ชีวิตไม่ได้เกิดมาทำตรงนั้น
จากนั้นช่อง 7 หาคนพากย์เรื่อง “ดาวพระศุกร์” จนมาเจอคนที่อยู่ช่อง 3 คือ จักรพันธุ์ ยมจินดา จนได้ย้ายมาอยู่ช่อง 7 ในที่สุด
ช่อง 7 บอกว่า อยากพากย์เรื่องไหน อยากได้เงินเท่าไหร่ เลือกได้เลย แต่ให้มาช่วยอ่านข่าวด้วย ตอนนั้นก็ได้พากย์กีฬาด้วย ยุคที่ “ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” เป็นกองหน้าพากย์จนจำอิริยาบทได้หมด
จนเราเริ่มรู้สึกว่างานเยอะ จึงให้หาคนมาช่วย ผมแนะนำเพื่อนที่อยู่สยามสปอร์ต “ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา” ก็มาพากย์แทนและมาอ่านข่าวด้วย
สุดท้ายงาน ย.โย่ง ก็ล้นตัวอีก ผมเลยให้ช่อง 7 ไปชวนมาอีกคนหนึ่ง นั่นคือ “พิศณุ นิลกลัด” มาพากย์มวย ครบขุนพลช่อง 7
ชัยชนะในสนามข่าว
จักรพันธุ์ เล่าว่า ผมจำต้องเลิกพากย์หนัง และขึ้นเป็นแม่ทัพคุมข่าว เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยน ทำเรตติ้งของละครและข่าวเพื่อแข่งขันกับช่อง 9
สิ่งแรกที่ทำคือปฏิวัติข่าวกีฬาก่อน ช่างภาพที่ไปถ่ายฟุตบอลจะต้องมีภาพที่เห็นจังหวะบอลเข้าประตู หรือจังหวะสำคัญ ถ้าถ่ายแค่คนวิ่งกันไปมาแล้วเอามาให้พากย์ผมจะไม่ทำแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ข่าวกีฬาของช่อง 7 ภาพและเสียงตรงกัน ทำให้เรตติ้งข่าวขยับขึ้น เพราะคนดูแล้วสนุก
สำหรับข่าวอื่น ๆ ตอนนั้นช่อง 7 เช่าดาวเทียมจากอินโดนีเซีย เวลามีข่าวสำคัญสามารถส่งดาวเทียมได้ อย่าทิ้งให้สูญเปล่า ซึ่งประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” เข้าถล่มภาคใต้เมื่อปี พ.ศ.2532 พอดี
ตอนอยู่ช่อง 7 ทุก 11.00 น. ผมจะไปเรียนพยากรณ์อากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยา ก่อนพายุเกย์เข้า ฝนตกหนักภาคใต้ พายุค่อย ๆ พัฒนาจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นดีเปรสชั่น
ผมเห็นลักษณะนี้ก็รู้ว่าไม่ดีแล้ว เลยคุยกับ “หว่อง-พิสิทธิ์ กีรติการกุล” ถ้าพรุ่งนี้เป็นพายุโซนร้อนจะเชิญอธิบดีกรมอุตุฯ มาคุยและเตือนประชาชนภาคใต้ พร้อมส่งทีมข่าวลงไปภาคใต้ ที่นครศรีธรรมราชและหัวหิน
รุ่งขึ้นพายุก็กลายเป็นพายุโซนร้อนและถูกตั้งชื่อว่าพายุเกย์ ผมก็โทรหาอธิบดีกรมอุตุฯ เชิญมาสัมภาษณ์และเตือนประชาชน คำถามสุดท้ายที่ผมถาม คือ พายุจะมีโอกาสเป็นพายุใต้ฝุ่นหรือไม่ ตอนนั้น ท่านตอบไม่เป็น เพราะมันใกล้ฝั่งและจะอ่อนกำลัง แม้ท่านจะตอบผิดแต่ก็มีเหตุผลของท่าน
สุดท้ายเมื่อพายุขึ้นฝั่ง อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว ที่ชุมพร ต้นไม้ล้มระเนระนาด ราบเป็นหน้ากอง ซึ่งเราได้ภาพก่อนคนอื่น เราส่งภาพขึ้นดาวเทียมจากระนองกลับมากรุงเทพ เสนอภาพเหล่านี้ได้ก่อนใคร นี่คือชัยชนะของข่าว
เช่นกัน ตอนที่เลาดาแอร์ตกที่สุพรรณ ผมกำลังจะนอน ลูกน้องโทรมาบอกว่าเครื่องบินตก พอรู้ว่าเป็นเครืาองบินพาณิชย์ ให้ลูกน้องมารับไปสุพรรณเลย ไปถึงเขากำลังขนศพลงมา เราต้องเห็นของจริง ต้องเห็นเอง เพื่อให้มาบรรยายได้ ความรวดเร็วตรงนี้ประกอบกับกับเรตติ้งละครหลังข่าว ทำให้เราชนะได้
จาก 90s ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด
ถ้าพูดถึงยุค 90 ผมจำคำของ “ดํารง พุฒตาล” ได้ ว่า “องค์การโทรศัพท์ ตรงไหนมีโทรศัพท์ ผมจะย้ายบ้านไปตรงนั้น” สมัยนั้นแม้มีเงินก็อาจจะไม่มีโทรศัพท์ มือถือยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่สมัยนี้ผ่านมากี่ปีเองมีอะไรเต็มไปหมด
จากยุค 90s มาจนวันนี้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงหมด ใครจะคิดว่ามามิวเซียมสยามโดยรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ทีวีดูได้เป็นร้อยเป็นพันช่อง ใครจะคิดไม่ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกก็ใช้โทรศัพท์ได้ ใครจะคิดว่าดูหนังแค่เป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ก็ดูหนังได้ทั้งโลก
วันนี้เบรกกิ้งนิวส์ วินาทีนี้เรารู้ทันที เหตุการณ์อิสราเอล ฮามาส พม่า เรารู้ทันที วันนี้ข่าวสารมันไม่ไปไหน เราไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเพื่อรับรู้ข่าวสาร อยู่ตรงไหนก็รับรู้ได้กับโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 ยังคงอัดแน่นและจัดเต็ม ประกอบไปด้วย
TALK ย้อนความทรงจำกับ 3 ตำนานแห่งยุค 90s
25 พ.ย. 16.00 น. เป้-วิศวะ กิจตันขจร ดีเจที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ฟังตั้งแต่ยุค 90 จนถึงทุกวันนี้
26 พ.ย. 16.00 น. ทราย เจริญปุระ ไอคอนิกแห่งยุค 90s
ดื่มด่ำเสียงเพลง 90s รื่นรมย์โต้ลมหนาว
25 พ.ย. 17.20 น. ตุ๊ก-วิยะดา
25 พ.ย. 18.30 น. เบิร์ด – ฮาร์ท
26 พ.ย. 17.00 น. ปั่น ไพบูลย์เกียรติ
26 พ.ย. 19.30 น. ธีร์ ไชยเดช
แล้วพบกันในงาน FEED RETRO Music •Talk • Food • Book • Trip #90ไม่นานมานี้ ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ มิวเซียมสยาม