
จังหวัดสุรินทร์เร่งป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
วันที่ (28 พฤศจิกายน 2566) นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ การจับกุมคดียาเสพติด และเครือข่ายรายสำคัญในรอบเดือนกันยายน 2566 จากนั้นเป็นการติดตามเป้าหมายการดำเนินงาน ตาม 6 มาตรการตามตัวชี้วัด ประกอบด้วย มาตรการป้องกันยาเสพติด ในสถานศึกษา สถานประกอบการ หมู่บ้าน ชุมชน
จากนั้นเป็นการติดตามกันปราบปรามยาเสพติด การยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด รวมทั้งมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ในห้วงเดือนตุลาคม 2566 จังหวัดสุรินทร์มีการจับกุมข้อหายาเสพติดทั้งหมด 195 คดี เพิ่มขึ้นจากห้วงเดือนที่ผ่านมา 147 คดี คิดเป็นร้อยละ 32.65 ส่งผลให้จังหวัดสุรินทร์มีสถิติการจับกุมคดียาเสพติดเป็นลำดับที่ 7 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
จังหวัดสุรินทร์มีการจับกุมพร้อมตรวจยึดของกลางยาบ้าได้จำนวน 34,058 เม็ด เปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณการจับกุมคดียาเสพติดจำนวน 29,458 เม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.62 พื้นที่ที่ตรวจยึดได้มากที่สุด คือ อำเภอชุมพลบุรี รองลงมาเป็นอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอสังขะ ตามลำดับ สำหรับสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในห้วงเดือนตุลาคม 2566 พบผู้เข้ารับการบำบัดรักษา จำนวน 34 คน ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 89.19 ประเภทยาเสพติดที่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุดยังคงเป็นยาบ้าร้อยละ 78.38 และส่วนใหญ่เป็นการบำบัดรักษาจากระบบสมัครใจ พื้นที่ที่มีการบำบัดรักษามากที่สุด คือ อำเภอท่าตูม รองลงมาเป็นอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอปราสาท และอำเภอลำดวน ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาสัตว์ส่วนใหญ่ว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 48.65 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง เกษตรกร ค้าขาย และนักเรียนนักศึกษา
โดยสรุปสถานการณ์ยาเสพติดและแนวโน้มพบว่าพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่มีการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติดมากที่สุด ในพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอสังขะ และอำเภอชุมพลบุรี กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังคืออายุระหว่าง 12-17 ปี รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นในช่วงอายุ 18-24 ปี กลุ่มอาชีพที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มอาชีพรับจ้าง เกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาเสพติดที่มีการค้าและแพร่ระบาดมากที่สุดคือยาบ้า สำหรับ ไอซ์ มีแนวโน้มการแพร่ระบาดในพื้นที่ลดลง อย่างไรก็ตามควรเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากยังพบการจับกุมตรวจยึดได้ในพื้นที่ รวมถึงยังคงมีกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดลักลอบลำเลียงไอซ์ผ่านเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : กิตติชัย ลำสมุทร
ผู้เรียบเรียง : วรรณวิไล สนิทผล
แหล่งที่มา : สวท.สุรินทร์