จับตาเทรนด์เนื้อสิงโต-สัตว์หายากเพาะเลี้ยงจากแล็บ หวังเจาะตลาดสายเนื้อรุ่นใหม่ ดีต่อสิ่งแวดล้อม


เมื่อปีที่แล้ว มีการเปิดตัว “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” (Cultivated meat) ออกสู่ตลาดในอังกฤษ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์หายากต่าง ๆ เช่น เนื้อสิงโต เสือ ม้าลาย สร้างความฮือฮาในวงการอุตสาหกรรมอาหาร

เนื้อสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ได้จากการล่าสัตว์จริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่เนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากพืช (Plant-based) หากเป็นเนื้อที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ในโครงการของบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Primeval Foods

เนื้อสัตว์เหล่านี้อาศัยกระบวนการทางวิศวกรรมชีวภาพ เลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อของสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากสัตว์จริง ด้วยสารอาหารในพื้นที่ควบคุม และถูกมองว่าเป็น “เนื้อสัตว์แห่งอนาคต” ที่จะมาแก้ไขปัญหาวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลก รวมทั้งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์หรือทำปศุสัตว์จริง ๆ เพื่อให้ได้เนื้อมา ซึ่งจะลดปัญหาการไล่ล่าสัตว์ป่า และปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลจากการทำปศุสัตว์

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงซึ่งเน้นไปที่ตลาดของนักบริโภคเนื้อสัตว์หายากนั้น ไม่ได้มีแต่เนื้อสิงโต เสือ หรือม้าลายดังที่กล่าวมา แต่ยังมีเนื้อช้าง ยีราฟ และล่าสุดก็มีรายงานข่าวว่าไปไกลถึงการเพาะเลี้ยงเนื้อช้างโบราณอย่างแมมมอธกันแล้ว

เนื้อสิงโตที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ วางจำหน่ายในรูปของเนื้อเบอร์เกอร์
ซูชิเนื้อม้าลายเพาะเลี้ยงจากแล็บ

อย่างไรก็ตาม การจะนำเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเหล่านี้ลงสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไปและร้านอาหารได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานสุขอนามัยของอาหาร รวมถึงต้องติดป้ายหรือฉลากให้เห็นชัดว่า นี่คือเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาจากสัตว์จริง ๆ ในทำนองเดียวกับผัก ผลไม้ ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม จะต้องติดฉลากว่าเป็นผลิตภัณฑ์ GMO

ขณะนี้ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกำลังได้รับการยอมรับจากตลาดอาหารในหลายประเทศ บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายก็เพิ่มจำนวนขึ้น นอกเหนือจากอังกฤษ ยุโรปบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรับรองความปลอดภัยในการบริโภค แล้วก็ยังมีสิงคโปร์ ที่เริ่มจำหน่ายเนื้อสัตว์ประเภทนี้ รวมทั้งสหรัฐ ที่กระทรวงเกษตรเพิ่งอนุมัติให้บริษัท 2 แห่งในสหรัฐ จำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์เหล่านี้ได้ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น เว็บไซต์ foodmanufacture.co.uk ซึ่งเป็นผู้นำในการให้ข่าวสารและข้อมูลในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารของอังกฤษ ยังระบุว่า เทรนด์ของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามอง ทั้งในส่วนของการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงทั่วไป เช่น ไก่ หมู วัว เพื่อผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน และในส่วนของการจำหน่ายเนื้อสัตว์หายากหรือเนื้อสัตว์แปลก ๆ เช่น เสือ สิงโต ม้าลาย ช้าง สำหรับร้านอาหารระดับไฮเอนด์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่เรียกว่า “โปรตีนเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable protein) ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดที่สูงถึง 6,800 ล้านปอนด์ (ราว 302,000 ล้านบาท) ในปี 2578

ที่มา : theweek.com, ladbible.com, foodmanufacture.co.uk

เครดิตภาพ : Primeval Foods


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *