“ประเทศในอาหรับ” จัดเป็นกลุ่มนำเข้าน้ำตาลจำนวนมากจากต่างประเทศ เตรียมพร้อมรับมือราคาของหวานทุกชนิดที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลัง อินเดีย ซัพพลายเออร์น้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆของโลก วางแผนระงับการส่งออก ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567
แหล่งข่าวรัฐบาลอินเดีย 3 รายบอกกับรอยเตอร์ตรงกันว่า มีคำสั่งห้ามส่งออกน้ำตาล ระยะเวลา 11 เดือน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากผลผลิตอ้อยลดลง เหตุฝนไม่ตกตามฤดูกาล
คำสั่งห้ามส่งออกน้ำตาล เกิดขึ้นหลังปริมาณน้ำฝนมีไม่เพียงพอในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่สำคัญๆของอินเดีย ทำให้ผลผลิตอ้อยตกต่ำ
แม้ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ปริมาณน้ำฝนโดยรวมในพื้นที่เพาะปลูกของรัฐอุตตรประเทศ และมหาราษฏระอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่บางเขตที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูก ก็มีระดับน้ำฝนน้อยลงกว่าเดิมมาก และคาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดน้อยลงตั้งแต่ปี 2567 – 2568
ผลผลิตอ้อยตกต่ำส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในอินเดีย เนื่องจากรัฐเหล่านี้เป็นฐานการผลิตน้ำตาลที่สำคัญหรือครึ่งหนึ่งของประเทศ
ท่ามกลางความกังวลในตลาดอาหารโลกที่มีต่อเงินเฟ้อ โดยเฉพาะประเทศในอาหรับ ซึ่งนำเข้าน้ำตาลจากอินเดียมากที่สุด
ปัจจุบัน ประเทศที่ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกคือ บราซิล อินเดีย ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี
อินเดียครองตำแหน่งผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ซึ่งคิดเป็น 15% ของการส่งออกทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนต.ค. 2565 – เดือนก.ย. 2566 ส่วนแบ่งการส่งออกคาดว่าจะลดลงเหลือ 11% เนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างมาก
น้ำตาลไม่ใช่การส่งออกสินค้าบริโภคเพียงรายการเดียวที่อินเดียสั่งระงับส่งออก เพราะเมื่อต้นเดือน ก.ค. อินเดียได้สั่งระงับส่งออกข้าวบางประเภท
อินเดียได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้บริโภคชาวต่างชาติด้วยการสั่งห้ามการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ นอกจากนี้ ยังกำหนดภาษี 40% สำหรับการส่งออกหัวหอม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาอาหารก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐในปลายปีนี้