จากอิสราเอล ถึงต่อ พ.ร.ก. และรถม้า


sutinsecurity15100

ปัญหางานด้านความมั่นคงไทย สะท้อนชัดยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตระดับโลก อย่างสงครามระหว่างฮามาส กับอิสราเอล

แม้จุดเกิดเหตุจะอยู่ห่างไกลจากไทยมาก แต่ผลกระทบในโลกยุคปัจจุบัน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และโดนกันเต็มๆ โดยเฉพาะคนไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ การอพยพคนไทยที่เหลือ รวมถึงการช่วยเหลือตัวประกัน

แต่ความพร้อมของไทยดูจะมีปัญหา เพราะ…

1.ไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ทำให้การประชุุม ประสานงาน และสั่งการ ไม่เป็นเอกภาพ รองนายกฯที่รับผิดชอบงานความมั่นคงก็แยกเป็นส่วนๆ

– ภาพรวมด้านต่างประเทศ และเศรษฐกิจ นายกฯเศรษฐา กำกับดูแลเอง

– ภาพรองลงมา เศรษฐกิจ การเมือง คือ คุณภูมิธรรม เวชยชัย กับ คุณปานปรีย์ พหิทธานุกร

– ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะส่วน ศอ.บต. งานพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ให้ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน

– ส่วนกองทัพ เป็นงานของ คุณสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

2.ป่านนี้รัฐบาลยังไม่มีเลขาธิการ สมช.ตัวจริง เพราะคนเก่าเกษียณไปแล้วกล่าวครึ่งเดือน ทั้งๆ ที่มีเหตุการณ์สำคัญทางความมั่นคงระดับโลก

เหตุผลก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไร เป็นการเก็บตำแหน่งไว้เตรียมแก้ปัญหาการเมืองในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีตั้ง ผบ.ตร.ไม่ลงตัว แล้วเคลียร์กันไม่ได้ อาจสไลด์รองผบ.ตร.อันดับ 1 ไปเป็นเลขาธิการ สมช.

ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็ไม่กล้าเลือกทหารมาเป็นเลขาธิการ สมช. เพราะกลัวถูกวิจารณ์ซ้ำซ้อนว่าอยู่ใต้เงารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สรุปเป็นปัญหาการเมืองล้วนๆ

การจัดวางตัวบุคคลรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงที่มีปัญหา ไม่เหมาะสม ไม่มีบารมีมากพอ และไม่ชัดเจน ทำให้เกิดผลสะเทือนตามมา ทั้งงานต่างประเทศและในประเทศ

ต่างประเทศสรุปให้ฟังแล้ว ส่วนในประเทศ รัฐบาลอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพอย่างเต็มรูปแบบ ไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรที่เคยประกาศไว้ได้เลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การต่ออายุ-ขยายเวลา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ประชุมกันวันก่อน แทนที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่เคยประกาศ กลับต่ออายุ-ขยายเวลาแบบ “เต็มแม็กซ์” 3 เดือน ทั้งๆ ที่การต่ออายุก่อนหน้านี้ ต่อไว้เพียง 1 เดือน

– รอลุ้น ครม.สัปดาห์หน้า เห็นชอบตามการเสนอของ กบฉ.หรือไม่

– จริงๆ แล้วรัฐบาลสามารถอนุมัติให้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่ 1 เดือนได้ และเพิ่มเงื่อนไขตรวจสอบการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของฝ่ายความมั่นคงอย่างเข้มข้นมากขึ้นได้ ฉะนั้นต้องรอดูมติ ครม.ว่า จะเห็นตาม กบฉ. หรือจะเล่นบท “ไม้แข็ง” ให้การบ้านกับฝ่ายความมั่นคงกลับไปบ้าง

– กบฉ.ยังเสนอให้นำอำเภอที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว กลับมาประกาศใช้ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะอำเภอที่กลับมาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกรอบ คือ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

อำเภอนี้ ถูกยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปตั้งแต่ปี 2562 หรือ 4 ปีก่อนหน้านี้

การเสนอกลับมาประกาศใช้อีก ทำให้กองทัพ หรือฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้กุมทิศทางการใช้กฎหมายพิเศษ ว่าจะใช้หรือเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ ทั้งๆ ที่เหตุผลที่นำมาอ้างว่า อำเภอศรีสาคร มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าเดิม ก็ไม่น่าจะใช่คำตอบสุดท้าย เพราะหลายอำเภอก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างตึงเครียด เพราะมีพี่น้องไทยพุทธออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่ออายุ-ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลควรตรวจสอบที่มาที่ไปของการชุมนุม เนื่องจากยังมีการชุมนุมไม่หยุดหลัง กบฉ.มีมติต่ออายุ-ขยายเวลาไปแล้วด้วย คล้ายเป็นการกดดันต่อเนื่องไปถึงการประชุม ครม.สัปดาห์ที่จะถึงนี้

– น่าสังเกตว่าอำเภอที่เป็นที่ตั้งของค่ายทหาร และศูนย์ซักถาม หรือศูนย์ควบคุมตัวทั้งหมด ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ไม่อยู่ในคิวเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเลย เช่น อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีค่ายวังพญา สถานที่ตั้งของศูนย์ซักถามใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่างของความสิ้นหวังเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงก็คือ บทบาทของ คุณสุทิน คลังแสง หรือ “บิ๊กทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หลายคนเคยทำนายเอาไว้แล้วว่า การส่งคุณสุทินเข้าไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม อาจไม่ส่งผลบวกต่อการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นกระแสเรียกร้องจากประชาชน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเหนือพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายชัดเจน แข็งกร้าว และมีเจตจำนงทางการเมืองมั่นคงกว่า โดยเฉพาะ…

1.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

2.ปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะผลประโยชน์จาก “เสนาพาณิชย์” และเงินนอกงบประมาณ จำพวก สนามกอล์ฟ สนามมวย สถานตากอากาศ หรือแม้แต่ที่ดินว่างเปล่า

3.โครงการลดจำนวนนายพล

ปัจจุบันข่าวความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้หายไปจากหน้าสื่อ มีแต่ภาพ คุณสุทิน คลังแสง หรือ “บิ๊กทิน” ตรวจเยี่ยมหน่วย มีการสวนสนามรับ ตั้งแถวกองเกียรติยศ ร่วมรับประทานอาหาร ฟังดนตรีขับกล่อมจากวงดนตรีของทหารหลัก ทหารพราน

อย่างเช่นภาพสุดยิ่งใหญ่ ชื่นมื่น เมื่อวันพฤหัสฯที่ 12 ต.ค.ที่ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์กันมาก นั่นก็คือกิจกรรมนั่งรถม้าของ “บิ๊กทิน”

กองทัพมีวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้คนจิตไม่แข็ง โอนเอนไปทางเข้าอกเข้าใจ และติดอกติดใจการดูแลของกองทัพอย่างง่ายดาย

สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น และต้องการ ก็จะเป็นอดีตไปเหมือนเดิม ครั้งหน้าค่อยไปฟังการหาเสียงรอบใหม่

1.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร – ผลที่ได้คือแค่ลดจำนวนการเกณฑ์ เพิ่มการสมัคร ซึ่งก็กองทัพก็ทำอยู่แล้ว ค่าตอบแทนก็เอาค่าประกอบเลี้ยงมาเกลี่ยใหม่ เพราะเมื่อยอดการเกณฑ์ลดลง จำนวนทหารเกณฑ์ลดลง งบที่ตั้งไว้เดิมก็เหลือ ก็นำมาเกลี่ย (ไม่ได้ประหยัดงบแม้แต่บาทเดียว)

2.ปฏิรูปกองทัพ ผลประโยชน์ “เสนาพาณิชย์” – ยังไม่ทำอะไรเลย ยกเว้นการเตรียมนำที่ดินว่างเปล่าของกองทัพไปให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ซึ่งกองทัพก็ไม่ได้เสียอะไรอีกเช่นกัน เนื่องจากที่ดินเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ของกองทัพ กองทัพแค่ขอที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ หรือสงวนเอาไว้ทางความมั่นคง

3.โครงการลดจำนวนนายพล – ลดอยู่แล้ว เพราะเกษียณเยอะปี 2570-2572 แต่การลดลงประมาณ 50% ก็ยังทำให้นายพลเมืองไทยมีหลายร้อยคนอยู่ดี ขณะที่ต่างประเทศมีไม่เกิน 10-20 คน เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร หากยังอยู่ในระบบเดิม

4.ตัดลดงบกองทัพ – เริ่มเป็นความหวังลางเลือน มีข่าวว่ารัฐบาลแจ้งให้ตัด 10-20% ไม่ใช่เพื่อลดขนาดกองทัพหรืออะไร แต่เพื่อนำเงินไปใช้แจกดิจิทัล วอลเล็ต

ถึงวินาทีนี้ให้รอลุ้นเรื่องสุดท้ายคือ เครื่องยนต์เรือดำน้ำ ซึ่งการเจรจากับเยอรมนีล้มเหลวไปแล้ว หากในที่สุดต้องใช้ “เครื่องยนต์จีน” ก็จะเป็นบทสรุปที่ชัดเจนว่า การเข้าไปรับผิดชอบกระทรวงกลาโหมของพรรคเพื่อไทยรอบนี้ “เสียของ” หรือไม่?

และความไม่พร้อมในงานด้านความมั่นคงจะทำให้ประเทศชาติเสียหายระดับใด?


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *