“ข่าวหรือจะเป็นหนังสือพิมพ์ก็แนะนำแต่สิ่งที่บ้านเราจนๆ หรือที่มาทำสิ่งไม่ดีในญี่ปุ่น ก็เลยมีความรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรสักอย่างสมัยนั้นที่เป็นสื่อให้คนญี่ปุ่นได้รู้จัก ก็เลยมาคิดเรื่องอาหารถ้าเราทำได้รสชาติดี อร่อย ก็จะทำให้คนญี่ปุ่นได้รู้จัก “อาหารไทย”
และทำให้เขาอยากจะมาเที่ยวที่เมืองไทยด้วย นั่นคือสิ่งที่คิดเพื่อจะเริ่มต้นธุรกิจ “ร้านอาหารไทย” ขึ้นมาในช่วงย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านของ “คุณพิม-พิมใจ มัสซูโมโต้”ในวัย 75 ปีถึงตอนนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย “แก้วใจ” ในประเทศญี่ปุ่นที่มีสาขาเปิดอยู่ด้วยกันกว่า3 แห่ง กระจายอยู่ในย่านเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อย่าง ชินจูกุ ชินโจ และก็นาริตะ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าสินค้าไทย(เกษตรและอาหาร) เพื่อมาจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นด้วย คุณพิมเล่าให้ฟังอีกว่า มาญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 เดือนพฤษภาคม ครั้งแรกมาเรียนหนังสือก่อน แล้วก็สมัยนั้นยังไม่มีร้านอาหารไทยที่ไหนเลย “แล้วก็อีกอันหนึ่งก็คือเริ่มต้นจากที่ว่า ใจอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกว่าเพื่อคนรุ่นหลังหนึ่ง สองเพื่อตอบแทนประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีสิ่งดี ๆ เยอะมากยกตัวอย่างถ้าอาหารไทย มันก็สมัยนั้นก็ยังไม่รู้จักนะคะคำว่า “ครัวไทย-ครัวโลก” เพราะว่ามันตั้งเกือบ 50 ปีแล้วฉะนั้นก็เลย มาช่วงหลังถึงจะอ้อเขานำมาว่า “ครัวไทย-ครัวโลก” คำนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าโอเคมาก ๆ เลยนะคะ”
“อาหารไทย” ที่ยังคงเอกลักษณ์ รสชาติแบบไทยแท้
อาหารไทยถ้าเราทำเราต้องทำให้รสชาติเป็น “ไทยแท้” ในญี่ปุ่นถ้าไปดูหลาย ๆ ร้านจะมี “ร้านแก้วใจ” ที่ทำรสชาติกลมกล่อมก็คือมีเผ็ด หวาน เปรี้ยว เค็ม ซึ่งจะต้องมีออกทุกรสชาติ“อันนี้ก็คือเป็นเอกลักษณ์ของแก้วใจที่ว่า ในร้านอาหารเองไม่ว่าจะเป็นกุ๊ก จะเป็นคนเสิร์ฟ คนไทยหมดเลยค่ะ”เดิมทีเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว ชอบชิมชอบทำ แต่ด้วยมีสิ่ง ๆ หนึ่งก็ส่วนใหญ่จะไปชิมที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งที่วัดจะมีโรงครัวแล้วก็อย่างสูตรก๋วยเตี๋ยวของที่ร้านแก้วใจเอง จะมาจากวัดปากน้ำฯ ไม่ได้ไปเอาสูตรที่อื่นแล้วอีกอย่างหนึ่งก็เลยคิดว่า ในญี่ปุ่นเองก็ไม่มีใครแนะนำในเรื่องของก๋วยเตี๋ยวเยอะขนาดนี้ มาตอนหลังนี้ก็เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวที่เมืองไทยยกมาอยู่ที่นี่(มีหมดทุกอย่าง)เลย
“คือคนญี่ปุ่นน่ะตอนนี้คือเป็นหลักเนี่ยเขาก็จะมี ส่วนใหญ่จะแนะนำผัดกะเพรา ผัดไทย แกงเขียวหวาน คือส่วนใหญ่เป็นหลักเลยแม้กระทั่งช่วงนี้ ระยะหลังเนี่ยในกลุ่มเซเว่นอิเล็ฟเว่นพวกนี้นะคะหรือจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เขาก็จะมาเรียนรู้กับเรา” คือเอกลักษณ์ของอาหารไทยเรามันต้องเข้มข้นอยู่แล้ว เสร็จแล้วเขาก็ทานกับ “ข้าว” ฉะนั้นทานกับข้าวเวลาข้าวคลุกไปแล้วมันก็จะทำให้รสชาติอ่อนลง ฉะนั้นสิ่งสำคัญเราเป็นเจ้าของเราต้องเรียนรู้ “รสชาติ” ก่อน ฉะนั้นตอนนี้ก็มี “โรงเรียน” เองสอนทำอาหารไทยด้วย ซึ่งเวลาสอนแม้กระทั่งญี่ปุ่นหรือจะสอนคนไทยบอกว่าสิ่งแรกที่จะมาเรียน เขาจะต้องเรียนต้องรู้ว่า อันนี้เค็ม เค็มจากน้ำปลาหรือเค็มจากเกลือ ถ้าเปรี้ยว เปรี้ยวจากมะนาวหรือเปรี้ยวจากน้ำส้ม อะไรต่าง ๆ พวกนี้เป็นสิ่งที่ว่า เราต้องสอนให้เขารู้จักเรื่องรสชาติก่อน“คือจริง ๆ แล้วเนี่ยอย่างร้านอื่น ๆ เขาจะลดจัดจ้านลงไป แต่ของเราเนี่ยเราไม่ลดนะคะเพียงแต่ว่าจะมีว่าอาจจะว่า ลดเผ็ดลงมาอีกนิดนึงเพราะตัวเผ็ดเราสามารถให้เติมพริกน้ำปลาได้ใช่มั้ยคะ ฉะนั้นแต่ส่วนอื่นเราจัดจ้านหมดเลย ไม่ว่าจะเปิดในเมืองไทยหรือที่ไหนในต่างประเทศก็แล้วแต่ ให้คงความเอกลักษณ์ของไทยแล้วเราจะอยู่ได้” สมัยก่อนเมื่อประมาณ30 ปีที่แล้ว มีคนที่มาเปิดร้านอาหารไทยแข่งกับร้านแก้วใจ“เขาบอกว่าเราทำรสจัดมาก เดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายเขาไปก่อนเราอีกนะคะ เขาไม่อยู่แล้ว” ก็คือจะพยายามเน้นตัวอาหารไทย แล้วก็ให้ทุกคนที่ว่าพอเขาไปเที่ยวที่เมืองไทย หรือจะอยู่ในญี่ปุ่น เขาก็สามารถทานได้เหมือนที่ไปประเทศไทย
“ผัดกะเพรา” เมนูขายดี รับกระแสอาหารไทยฟีเว่อร์!
ตอนนี้คือถือว่าตัว “ผัดกะเพรา” ขายดี แล้วตอนนี้ก็พยายามแนะนำยกตัวอย่าง ข้าวคลุกกะปิ ก็แนะนำ คือส่วนใหญ่ใน1 ปีเราก็ควรจะออกเมนูใหม่สักครั้งหนึ่ง อย่างตอนนี้ที่ร้านเองแต่ละสาขาก็จะมี “เมนู” อาหารให้เลือกทานได้ไม่น้อยกว่า100 รายการอยู่แล้ว“คืออาหารไทยของเราก็ถือว่า เป็นเบสิคที่เขาทานได้ไม่ถึงขนาดแพงเกิน เพราะว่าคืออย่างสมมุติว่า ณ ตอนนี้ถ้าสมมุติว่าเราขายอาหารที่เป็น Launch ก็อยู่ที่ 950 เยน คือ 1,000 เยน ให้เขามีตังค์ทอนน่ะ! แล้วก็มีแถมกาแฟให้อย่างเงี้ยค่ะ” เพราะส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นถ้ามื้อกลางวันทานเกิน 1,000 เยน มันก็จะลำบาก ก็เลยจะเน้นว่าให้อยู่ที่ราคาไม่เกิน 1,000 เยน “มื้อกลางวัน” จะขายเป็น 3 เซ็ต มี 3 เซ็ตให้เลือก จะไม่ขายเป็น A la carte เพราะว่ามันจะช้าไปนอกจากว่า สั่งมาหรือว่าเป็นกรณีพิเศษเขาจะมีงานเลี้ยงอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ธรรมดาจะขายเป็น “อาหารหลางวัน” ซึ่งก็เป็นยอดที่ขายไม่เลวเลย เฉพาะอาหารกลางวันก็ถือว่าเขาเลี้ยงตัวได้ “ก็ถือว่าแก้วใจของเราเนี่ยก็ถือว่า ยิ่งช่วงโควิดฯ เขาไปเมืองไทยไม่ได้ แน่นทุกร้านเลย ขายดี”
วัตถุดิบนำเข้าจากเมืองไทย เน้นแบบ frozen ช่วยคงคุณภาพ
บังเอิญว่าที่บริษัทใช้ชื่อว่า PK Siam เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบเข้ามา พวกผัก ผลไม้ด้วยซึ่งก็จะมีทั้ง ที่ขายอยู่ในร้านอาหารเองด้วยแล้วก็ตอนนี้มีทำส่งพวกซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย “มันก็เป็นจุดที่ว่าร้านของเราเองถ้าเมนูตัวไหน ที่จำเป็นต้องมาจากเมืองไทยเราก็จะส่งขึ้นมาให้ต่างหากค่ะ ไม่ว่ามะนาว อย่างมะนาวนี่เราก็ใช้มะนาวไทยนะคะ มะนาวไทยเนี่ยที่ฤดูกาลเวลามะนาวเราใช้ จะให้เขาบีบเป็นน้ำแล้วทำเป็นแบบแช่แข็งเข้ามา เพราะมะนาวสดเนี่ยมันจะเข้าไม่ได้ พริกขี้หนูสดก็เข้าไม่ได้ ฉะนั้นพวกนี้เราก็เอาไปทำแช่แข็งหมดเลย ทำ frozen หมด” คืออาหารไทยมาจากการที่ว่าเรารักด้วย ใจรัก ก็เลยคิดว่าจะต้องพัฒนา พัฒนาเรื่อง “กลิ่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วก็หนึ่งคือเรื่อง “รสชาติ” อันนี้เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญของอาหารไทย “ก็เลยพัฒนา พัฒนาไปเรื่อย ๆ ก็เลยเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจากบ้านเราเดี๋ยวนี้เราทำเป็นเรียกว่า เป็นของ frozen มาดีกว่าไปอบแห้ง เพราะว่าอย่างสมัยก่อนบางคนก็ไปใช้อบแห้งใช่มั้ยคะ อบแห้งนี่ไม่ดีค่ะ(กลิ่นแล้วก็รสชาติอาจสูญเสียไป) สู้แบบ frozen ไม่ได้ คือจะไปประเทศไหนก็แล้วแต่ใช้ที่เป็น frozen ไปแล้วเข้าได้ทุกประเทศ ทั่วโลกนะคะของfrozen นี่เข้าได้หมดเลย แล้วอันนี้เนี่ยเอาไปใช้แล้วจะไม่ผิดหวัง ถ้าเราไปใช้ของ frozen แล้วเนี่ยจะเป็นรสชาติเหมือนไทยหมดเลย”
“โอกาส” ของอาหารไทย ใครสนใจทำธุรกิจมาได้เลย
ตนเองมีโรงเรียนสอนทำอาหารไทยด้วย มาเรียนรู้ แล้วที่โรงเรียนก็เชิญอาจารย์ที่สวนดุสิตมาอยู่ที่นี่ด้วย จนตอนนี้อาจารย์ก็ลาออกไปแล้วแต่ว่า ก็ยังมีการคิด “สูตร” ขึ้นมาเพื่อจะให้กับบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตที่พร้อมจะมาซื้อสูตรกับร้านแก้วใจ ฉะนั้นช่วงระยะหลังนี้ก็เลยคิดว่าจะต้องเผยแพร่ไปให้กว้างขึ้น ทั่วประเทศญี่ปุ่นให้คนทานได้ แล้วเราต้องผลิตให้เข้าไมโครเวฟแล้วก็ทานได้เลย อันนี้คือเป็น step ที่จะทำต่อไป“ยินดีถ้าอยากจะเข้ามาประเทศญี่ปุ่นแนะนำได้หมดเลยค่ะ นะคะคือยินดี ยินดีนะคะคือหนึ่งการเปิดร้านอาหารไทยคือเราต้องเรียกว่า คือความยุ่งยากมีอะไรบ้างอันนี้เนี่ยแบ่งปันได้ค่ะ ในญี่ปุ่นเอง ณ ทุกวันนี้จะมี “โอกาส” มากขึ้นเพราะเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่คนต่างชาติก็มาอยู่ที่นี่เยอะเพราะญี่ปุ่นขาดแรงงานใช่มั้ยคะ ขาดแรงงานเนี่ยเขาก็จะมีคนเวียดนามเข้ามา แล้วต่อไปก็จะมีคนไทยเข้ามา คือเดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นเองเขาขาดแรงงานเพราะฉะนั้น เขาต้องเอาคนต่างชาติเข้ามาอยู่แล้ว” ฉะนั้นพอคนต่างชาติเข้ามาก็ทานอาหารที่รสจัด รสเผ็ดขึ้นมามากขึ้น ฉะนั้นมันจึงมี “โอกาส” เป็นโอกาสจากที่สมัยก่อนที่ว่ามี Covid-19 ซึ่งถึงตอนนี้โควิดฯ มันก็ได้ซาลงหรือว่าพอจะเบาบางไปแล้วในแง่ของการรับมือกับโรคนี้ ก็คิดว่าจากนี้ไปน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ถ้ามีอะไรก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำได้ “เพราะว่าคือในอาหารไทยเองนั้น ถามว่ายุ่งยากมั้ยมันก็มีทั้งยุ่งยากด้วยหรืออาจจะไม่ยุ่งยากเพราะว่าทุกอย่างเรากำหนดได้ เราเรียนรู้ได้ ไม่ยุ่งยากมากขนาดที่ว่าทำไม่ได้ (หัวเราะ) หรืออย่างอุปสรรคก็จะมีเรื่อง “คน” แต่ว่าเราก็ต้องทำใจ อย่างเรื่องคนมันก็จะมีอุปสรรคยกตัวอย่างว่า การที่เราทำกุ๊กคนหนึ่งขึ้นมาหรือจะทำเรียกว่าคนเสิร์ฟคนหนึ่งเข้ามา แล้วก็อาจจะต้องมีปัญหาถูกดึงไปหรืออะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็อยู่ที่ตัวเราเองเราก็พยายามว่า ให้โอกาสให้ความเมตตาที่ดีที่สุด แล้วก็ตอนนี้การที่จะอยู่กับเราหรือไม่อยู่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” เพราะตอนนี้ในญี่ปุ่นเอง “กฎหมาย” ของญี่ปุ่นสามารถที่จะนำกุ๊กเข้ามา นำคนเสิร์ฟอาหารเข้ามาได้ ฉะนั้นตอนนี้ญี่ปุ่นเปิดกว้างเปิดเรื่องของอะไร ๆ ที่ง่ายขึ้นหน่อยหากเทียบกับเมื่อก่อน “ฉะนั้นเนี่ยถือว่าถ้าคนไทยเรา อยากจะมาทำธุรกิจที่นี่มาได้ค่ะ มาได้เลยไม่เหมือนบ้านเรา ถ้าประเทศไทยเวลาการที่เขาไปลงทุนทำอะไร ก็ยังต้องมี 51 : 49 แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ต้อง! คนไทย 100% ก็สามารถที่จะเข้ามาลงทุนได้ ขออย่างเดียวถ้าเรามีเงินสดที่จะกำเงินไปลงทุนที่ในญี่ปุ่น ได้แต่ก็ต้องดูพันธมิตรให้ดี ๆ ไม่ใช่ว่าไปเลย แล้วถ้าไปถึงเกิดเจอคนที่ไม่จริงใจก็จะลำบากเหมือนกัน
เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลัง ทำความดีถวาย “พ่อหลวง”
คุณพิมใจ มัสซูโมโต้ นักธุรกิจไทยในญี่ปุ่นยังบอกด้วย ตอนหลังในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาซึ่งก็ได้กลับมาที่เมืองไทยเพื่อก่อตั้งบริษัทที่ประเทศไทยด้วย “แต่ก่อตั้งบริษัทที่เมืองไทยเราก็พยายามสื่อ สอนเกษตรกรที่เมืองไทย ให้รู้จักคิดต้นทุนให้รู้จักปลูกอะไรแล้วมันขายได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามที่จะไปถ่ายทอดนะคะ เพราะว่าอายุก็เยอะแล้วค่ะมีอะไรก็แบ่งปันกัน ถ่ายทอดให้รู้ให้เข้าใจกันเท่านั้นค่ะ” แล้วก็คืออีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ว่าไม่มีใครทราบแต่ว่าตัวเราเองเรารู้แก่ใจของเราเอง ก็คือว่าข้อที่ 1 ได้สร้าง “วัดไทย” แห่งแรกที่ได้ถวายหลวงพ่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้สร้างวัดไทยและก็ได้ขอพระราชทาน “พระปรมาภิไธย(ย่อ) ภปร.-สก.”เพื่อประดิษฐานอยู่ที่หน้าพระอุโบสถของวัดด้วย อันนี้ก็คือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสมากราบไหว้หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ แล้วก็มาปฏิบัติธรรมกันที่วัดปากน้ำญี่ปุ่นได้ ข้อที่ 2 ได้มีโอกาสเป็นผู้บุกเบิกนำเข้าไทยมาประเทศญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็คิดว่าเราได้เอา “ข้าวไทย” ของเราได้มาในญี่ปุ่นให้ร้านอาหารไทยทุก ๆ ร้านที่ทานข้าวหอม สิ่งเหล่านี้ก็คือตัวเองรู้สึกภูมิใจเล็ก ๆ อยู่ในตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็พยายามว่าเราอยากจะทำความดี เพื่อถวาย “พ่อหลวง”
“คืออยากจะทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง ๆ คนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่นนะคะ ให้เขาสืบสานต่อว่าเราต้องรักชาติ รักประเทศไทย ก็คือสิ่งสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ สมัยก่อนก็นึกถึง “พ่อหลวง”(รัชกาลที่ 9) อยู่ตลอดเวลาว่าท่านสร้างหลาย ๆ อย่างกับที่เมืองไทยไว้เยอะแล้วทำไมเราไม่ไปสานต่ออะไรสักนิดหนึ่ง ก็เลยเนี่ยะต้องบอกว่าก็เลยพยายามทำในสิ่งที่ ทุกวันนี้ที่ทำอยู่ ก็เพราะทำตาม “พ่อหลวง” ค่ะ”
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของประเทศไทย ที่ผ่านความตั้งใจจริงของ “คุณพิมใจ มัสซูโมโต้” นักธุรกิจหญิงคนไทยท่านนี้ได้ทำเพื่อประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้วนับเนื่องกว่า 50 ปีสำหรับ “อาหารไทย” รสชาติแบบไทยแท้ ๆ ที่ต้องการจะสื่อสารให้กับคนญี่ปุ่นได้เกิดความเข้าใจและรู้จักอาหารไทยอย่างแท้จริง แทนภาพจำซึ่งในอดีตที่มีคนไทยอาจเคยได้ไปทำสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะเอาไว้ก็เปลี่ยนใหม่ให้มาเป็นภาพที่ คนญี่ปุ่นทรงจำที่ดีกับอาหารไทยและประเทศไทยที่น่าไปเที่ยวชมแทนมากกว่า ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ ในครั้งนี้และก็ความรู้มากมายให้กับคนที่สนใจอยากจะเข้าไปลงทุนเพื่อทำธุรกิจร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับใครที่สนใจและอยากจะขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อ “คุณพิม” ไปได้ที่ โทร.098-998-2463 หรือ +81 (0) 80 4155 9456 (Japan) หรืออีเมลไปที่ [email protected]
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *