“ชลน่าน” ตั้งเป้าระบบสุขภาพไทยติด 1 ใน 5 ของโลก ประกาศสู้ ก.พ.ตั้ง ก.ก.บริหารบุคคลเอง คาดเข็น Quicl Win เข้า ครม.วีคหน้า



“ชลน่าน” มอบนโยบายบุคลากรทั่วประเทศ ย้ำจากนี้เป็นสาธารณสุขยุคใหม่ MOPH Plus ยึดประชาชนศูนย์กลาง ประกาศสู้ ก.พ. หนุนตั้งกรรมการบริหารบุคคล เลือกคน จัดสรรตำแหน่ง ทุกวิชาชีพ ทั้งส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลังต้องก้าวหน้า ขอใช้คำเดิม Health For Wealth สุขภาพสร้างเศรษฐกิจ พร้อมดัน 5 ประเด็น Quick Win 100 วัน คาดเข็นเข้า ครม.สัปดาห์หน้า ตั้งเป้าดันระบบสุขภาพไทยติด 1 ใน 5 ของโลก

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ประชุมมอบนโยบาย สธ. พ.ศ. 2567 ต่อผู้บริหารระดับสูง สธ.ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จำนวน 500 คน ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ และสื่อสารไปถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ภายใต้แนวคิด “พี่เล่าให้น้องฟัง รวมพลัง แล้วไปกันต่อ”

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุด คือ คนไทยสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม ซึ่งปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยเป็นอันดับ 6 ของโลก ตั้งเป้าจะให้ติด 1 ใน 5 ของโลก ทั้งนี้ เราดูแลสุขภาพตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างเด็กเกิดใหม่ต้องได้รับการคัดกรอง 40 กลุ่มโรค แม้จะเป็นโรคหายาก ผลักดันส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ สธ.ต้องสร้างความมั่นใจ ทั้งงานอนามัยเจริญพันธุ์ การเตรียมบุคคลที่พร้อมจะมีลูก หรือคนพร้อมจะมีแต่ไม่มีลูกก็ต้องเข้าไปช่วย ทั้งข้อจำกัดด้านกฎหมาย ขยับโตมาประกาศเรื่องงานอนามัยโรงเรียน ส่วนผู้สูงวัย เราประกาศมีสถานชีวาภิบาล จะอยู่ในสถานพยาบาล วัด ในชุมชนก็ได้ เป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และดูแลผู้สูงอายุโดยรวมอย่างทั่วถึง จะประกาศเป็น Quick Win ต้นแบบที่มีผลสำเร็จแล้วใน 100 วัน สำหรับหลายพื้นที่มีข้อจำกัด พื้นที่เปราะบาง พื้นที่เฉพาะ ชายแดน พื้นที่เกาะ ก็ยกขึ้นมาดูแล ไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง


นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากโรคไม่ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 80 เรามีนโยบายเด่นเรื่องของมะเร็ง ฉีดวัคซีนเอชพีวี 100 วัน 1 ล้านโดส 1 ล้านคน ซึ่งอนุมัติแผนงานตั้งคณะกรรมการขึ้นมารองรับแล้ว จริงๆ ปลัด สธ.บอกว่า ผู้ชายก็ต้องฉีดได้ เพราะไปสัมผัสกับคู่สมรสคู่รักของเขา แต่เราฉีดผู้หญิงให้เพียงพอก่อน นอกจากนี้ พื้นที่ภาคเหนือ อีสาน จะพบว่าคนอายุ 40-50 กว่าปี เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี เรามีนโยบายคัดกรองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างน้อย 1 แสนคน ทั้งนี้ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค อยู่แล้ว จึงยกระดับสู่นโยบาย 30 บาทพลัส ยกระดับทุกมิติ ส่งเสริมป้องกัน รักษาพยาบาล ฟื้นฟู โดยใช้ดิจิทัลสุขภาพเป็นกระดูกสันหลังหลักทำให้โครงการนี้สำเร็จ คือ บัตรประชาชนใบเดียว One ID Card Smart Hospital ดูแลรักษาสุขภาพตนเองได้ทุกที่ ทุกแห่ง สะดวก ไม่แออัด นัดหมอ รับยา โดยอาศัยระบบดิจิทัลเข้ามารองรับ

“ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับไม่ว่าส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง พี่น้องแบ็คออฟฟิศ คือ กำลังสำคัญ อย่างเย็นนี้จะไปเตะฟุตบอลกับผู้บริหาร สธ. ผมไม่กล้าลงไปเล่นกองหลัง เพราะกลัวประตูพรุน นั่นหมายความว่ากองหลังสำคัญที่สุด ขอให้มั่นใจว่าภาระหน้าที่ที่สนับสนุนด่านหน้าทำงาน ท่านเป็นส่วนสำคัญให้เราประสบความสำเร็จ บุคลากรเราทุกระดับจะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต ทำงานอย่างมีความสุข ประกาศเป็นนโยบายเติมขวัญกำลังใจทุกกลุ่ม ทุกสายวิชาชีพ จะได้รับการดูแลสนับสนุน ขวัญกำลังใจทั้งค่าตอบแทน สวัสดิภาพสวัสดิการ ความก้าวหน้าวิชาชีพ และภาระงาน” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้เรามีสถาบันพระบรมราชชนก ก็จะสอดรับนโยบาย รมช.สธ. ที่จะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ครบใน 10 ปี เราจะมีแพทย์ประจำครอบครัวลงไปในชุมชน รองรับนโยบายปฐมภูมิ อย่างไรก็ตาม สธ.เรามีบุคลากรกว่า 5 แสนคน หลายอย่างหุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ เพราะเราความรู้ความสามารถส่วนบุคคล ส่วนเครื่องมือแค่แบ่งเบาภาระ อย่างเทเลเมดิซีนที่เราจะใช้ หรือ Virtual Hospital ที่ควรมีในชุมชน แต่เราต้องทำหน้าที่รักษาพยาบาล แต่เราอยู่ภายใต้ ก.พ. ซึ่งนโยบายลดกำลังคนปี 2545 กระทบพวกเรามาก แต่เรายังมีเงินบำรุงมาบริหารจัดการ ไม่มีตำแหน่งก็จ้างชั่วคราว รายวัน รายเดือน


“ถ้าเราแก้ปัญหาของเราได้ เรามาจับมือกัน เอาเหตุผลความจำเป็นสู้กับ กพร. สู้กับ ก.พ. ว่าเราจะมี กสธ.ของเราเอง มีกรรมการบริหารงานบุคคลของเรา มีกฎหมายของเรารองรับ เพื่อมาจัดระบบ จัดกระบวนการ การคัดเลือกคนเข้า การจัดสรรตำแหน่ง ความก้าวหน้า ทุกวิชาชีพต้องก้าวหน้าไป ซึ่งผมให้ความสำคัญ” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปกติจะเรื่องของเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อดูว่าใช้เม็ดเงินคุ้มค่ามีประสิทธิภาพประสิทธิผลหรือไม่ แต่ที่ตนประกาศ คือ กระทรวงเราต้องสร้างความมั่งคั่ง ไม่อยากใช้ Health Economy แต่ขอใช้ต่อคำที่ดีอยู่แล้ว คือ Health for Wealth ใช้สุขภาพสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เรามีนโยบายรองรับเรื่อง เมดิคัลฮับ เซอร์วิสฮับ เวนเนสเซ็นเตอร์ ซึ่งเราแปลงได้ 13 คอมมูนิตีที่จะประกาศเป็น “เวลเนวคอมมูนิตี” หรือเมดิคัลเซฟตีทัวริสซึมก็สร้างรายได้มหาศาล โดยกระทรวงเราจะสร้างเศรษฐกิจ ถ้าทันก็จะเสนอเข้าสู่ ครม.สัปดาห์หน้า อาจจะเป็นกระทรวงแรกที่ประกาศได้

การขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยต่อจากนี้ คือ สาธารณสุขยุคใหม่ MOPH Plus ปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน โดย Quick Win 100 วันที่จะเน้นหนักให้เห็นผลลัพธ์โดยเร็วมี 5 เรื่อง คือ 1.โครงการพระราชดำริ คัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน พัฒนา รพ.อัจฉริยะต้นแบบในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ สุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง ขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไตรมาส 2 ทั้งแว่นตาผู้สูงอายุ 72,000 ชิ้น ผ่าตัดต้อกระจก 7,200 ดวง ฟันเทียม 72,000 คน ออกหน่วยพื้นที่ห่างไกล 720 อำเภอ ดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ 72,000 รูป และอาคารผู้ป่วยนอกเขตเมืองเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 72 แห่ง 2.ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ นำร่อง 4 เขตสุขภาพ 3.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร โดยมี Care D+ Team ในหน่วยบริการทุกระดับ 4.รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล โดยจัดตั้ง รพ. 120 เตียงในเขตดอนเมืองและเชียงใหม่ และ 5.สถานชีวาภิบาล จัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง จัดตั้ง Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่งและจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Quick Win 13 ประเด็น ได้แก่ 1.โครงการพระราชดำริทางด้านสาธารณสุข 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล 3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด มีแผนกจิตเวช มีหอผู้ป่วยจิตเวชที่พร้อมให้บริการ มีศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางระบบเทเลเมดิซีน 4.มะเร็งครบวงจร คัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง และมะเร็งท่อน้ำดี ตับ ปอดในเพศชาย จัดตั้งกองทุนมะเร็งลดค่าใช้จ่าย และจัดตั้งทีมเชิงรุก CA Warrior เพื่อลดป่วยลดตาย 5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 6.การแพทย์ปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมการดูแลที่บ้านและชุมชน พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล งานอนามัยโรงเรียน 7.สาธารณสุขชายแดน พื้นที่เฉพาะ และกลุ่มเปราะบาง เพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ชายแดนชายขอบ พื้นที่เฉพาะ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มอร์แกน กลุ่มไร้รัฐ และกลุ่มเปราะบาง

8.สถานชีวาภิบาล 9.พัฒนา รพ.แม่ข่าย พัฒนาระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ 10.ดิจิทัลสุขภาพ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ พัฒนาเป็น รพ.อัจฉริยะ 11.ส่งเสริมการมีบุตร 12.เศรษฐกิจสุขภาพ สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด พัฒนาศักยภาพสู่ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ดูแลสุขภาพครบวงจร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ ผู้ให้บริการ ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันเวลา และง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม เราจะเป็นหลังบ้านเป็นหลักประกันความปลอดภัย ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *