“ชลน่าน-สันติ” ลั่น! ดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้มีสุขภาพดี จ่อชง “ปั๊มลูก” วาระแห่งชาติ


vote_prime_post

“ชลน่าน-สันติ” ลั่น! ดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้มีสุขภาพดี จ่อชง “ปั๊มลูก” วาระแห่งชาติ

วันนี้ (15 กันยายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. แถลงภายหลังประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นวาระพิเศษระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำในสังกัด สธ. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนทุกมิติ 12 ด้าน ได้แก่ 1.การดูแลสาธารณสุขเขตเมืองด้วยนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล 2.นโยบายด้านสุขภาพจิต เนื่องจากสังคมขณะนี้มีปัญหาความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงระหว่างครอบครัว ระหว่างบุคคล และสังคม 3.เรื่องยาเสพติด ในส่วนของ สธ.คือ การบำบัด ดูแลรักษา มั่นใจได้ว่า สธ.จะร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ขับเคลื่อนให้มีผลงานเชิงตัวเลขที่จะทำให้ผู้เสพที่ถือเป็นผู้ป่วยจะกลับเข้าสังคมได้ปกติสุข 4.การดูแลมะเร็งครบวงจร มะเร็งเป็นโรคไม่ติดเชื้อที่คร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก ตั้งเป้าให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกกับเด็กหญิงอายุ 9-15 ปี ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโดส ซึ่งเป็นควิก-วิน (Quick Win) ที่ต้องทำให้ได้ใน 3 เดือน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า 5.การสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จะทำให้คนทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ เป็นคนมีสุขภาพดี ทำงานด้วยความสุข มีความก้าวหน้า มั่นคง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเป็นต้นแบบของคนสุขภาพดี 6.การให้บริการทางการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยการขยายแม่ข่ายของโรงพยาบาล (รพ.) ชุมชน ที่จะเชื่อมโยงกับการบริการปฐมภูมิ 7.ดูแลสาธารณสุขเฉพาะในพื้นที่เปราะบาง พื้นที่ชายแดน 8.สถานชีวาภิบาล การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะประคับประคอง ผู้ป่วยติดเตียง 9.การใช้มิติสุขภาพเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยการปรับโครงการกระทรวงและใช้ดิจิทัลเฮลท์ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีศูนย์ข้อมูลกลางที่อยู่บนคลาวด์ (Cloud)

10.การบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการตามความจำเป็นได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ 11.ส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เด็กเกิดใหม่ต้องมีคุณภาพและมีปริมาณเหมาะสม ประเทศไทยมีอัตราเกิดใหม่ปีละ 5 แสนคน ขณะที่มีอัตราตาย 5 แสนคนเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อเทียบแล้วจะเห็นว่าไทยมีอัตราเกิดที่ 1.5 ต่อแสนประชากร ขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยไม่ควรน้อยกว่า 2.1 ต่อแสนประชากร ถ้าใช้ตัวเลขนี้ประเทศไทยก็ควรมีเด็กเกิดใหม่เกือบปีละ 2 ล้านคน การที่มีเด็กเกิดน้อยจะส่งผลให้ฐานประชากรที่จะเข้าสู่วัยแรงงานลดลง และมีผู้สูงอายุมากขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากร

“เรื่องนี้ต้องใช้เวลาเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่เอื้อ ฉะนั้น ความกังวลของประชาชนไม่ใช่แค่มิติเชิงสุขภาพเพียงอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องผลักดันให้เกิดความพร้อมทุกมิติ โดยเรื่องนี้อาจทำเป็นควิก-วินไม่ได้เพราะต้องใช้เวลา จึงต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้มีการผลักดันเป็นวาระแห่งชาติต่อไป เช่น รัฐบาลรับดูแลบุตรที่ 2 คนที่ 3 ให้จบปริญญาตรีได้หรือไม่ การอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ตอนนี้ได้ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ตอนนี้ก็มีข้อเสนอว่าให้ปรับถึง 3,000 บาทได้หรือไม่ ตรงนี้ต้องไปพิจารณา” นพ.ชลน่าน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า 12.การดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสุขภาพ สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว

“ต่อจากนี้ สธ.จะพร้อมยกระดับ 30 บาทพลัส ครอบคลุมทุกมิติของการดูแลสุขภาพประชาชน และจะเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ เป็นหลังบ้านให้ประเทศไทย เฝ้าระวังความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กันไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นายสันติ กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่มานานทำให้ทราบถึงปัญหาในการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน ทั้งเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การรอรับบริการนาน ดังนั้น จะช่วยขับเคลื่อน สธ.ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการดูแลสุขอนามัยแม่และเด็ก เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รองรับการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายมะเร็งครบวงจร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราต้องมีระบบเข้าไปดูแลโรค ทั้งการเฝ้าระวังและการตรวจหาผู้ป่วย เช่น มะเร็งท่อน้ำดี พบมากในเพศชายที่อยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เราก็ต้องไปตรวจค้นผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีมาตรวจปัสสาวะหาเอนติเจนของพยาธิใบไม้ในตับ ทั้งนี้ การรักษาที่เร็ว ก็เพื่อให้หายขาดหรือยืดค่าเฉลี่ยอายุขัยของผู้ป่วยออกไป นอกจากนั้น ต้องให้ความรู้ สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *