“ชลน่าน” หนุนจัดงาน “แข่งเรือปลอดเหล้า” รับนโยบาย “เมืองสุขภาพดี คนอายุยืน” ทั้งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจาก “น้ำเมา” อุบัติเหตุ ส่งเสริมคนออกกำลังกาย กินอาหารดี สุขภาพดีทั้ง 4 มิติ รองรับเศรษฐกิจสุขภาพ ส่วน “น่าน” ดื่มสูงสุด เหตุวิถีชาวบ้านเอื้อต่อการดื่ม ต้องช่วยลดเหล้าขาว อีกปัจจัยมาจากคนนอกพื้นที่ขนมาดื่มตามดอย
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) อ.เวียงสา จ.น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืน พระอารามหลวง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566 ว่า สธ.มีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด โดย “น่านซิตี้โมเดล” เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของเขตสุขภาพที่ 1 คำว่า DEL ก็จะมีความหมายในตัว คือ D-Diet อาหารดี, E-Exercise ออกกำลังกาย และ L-Lifestyle วิถีชีวิต การผ่อนคลายความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมสุขภาพในมิติเชิงสังคม ทั้งนี้ การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีต้องดีทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งงานประเพณีแข่งเรือยาวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงสังคมที่กำหนดสุขภาพ
“อย่างสมัยอดีตการจัดงานจะมีเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งเรื่องของการเมา การทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพตามมา แต่จากการดำเนินงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายทำให้เกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าขึ้น โดยเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าในครั้งนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ประเพณีการแข่งเรือ เป็นการแสดงออกที่ตอบโจทย์ของการส่งเสริมสุขภาพ จึงมีการรณรงค์เรื่องการงดเหล้า อาหารปลอดภัย ส่งเสริมออกกำลังกายทั้งผู้แข่งเรือ กองเชียร์ก็ต้องฝึกซ้อม สะท้อนให้เห็นว่า น่านได้ใช้ประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมมากำหนดการลดปัจจัยเสี่ยงที่กระทบสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ส่วนการเตรียมความพร้อมให้น่านเป็นหนึ่งในจังหวัด Tourism เพราะเป็นเมืองที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โฮมสเตย์ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของ สธ. คือ นักท่องเที่ยวปลอดภัย พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั้ง CT Scan/ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ และเพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤติอย่างครอบคลุม จัดทีม Sky Doctor ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อถามว่าน่านเป็นจังหวัดที่ติด 10 จังหวัดที่ดื่มแอลกอฮอล์สูงสุดในประเทศไทย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตและประเพณีบ้านเราเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้เป็นนักดื่ม โดยเฉพาะการผลิตเหล้าได้ด้วยตัวเอง เช่น เหล้าขาว เราจึงต้องช่วยกันชี้ให้เห็นพิษภัยของเหล้า ต้องรู้ว่าดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันและจัดการตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การลดการเข้าถึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การแข่งเรือปลอดเหล้า ก็ลดการเข้าถึงการดื่ม ขณะเดียวกัน การลดการผลิต และการผลิตอย่างมีคุณภาพต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสุราชุมชนที่จะมีกระบวนการแยกเอาน้ำมันที่เป็นพิษในเหล้าออกมา หลังจาก สสส. เข้ามารณรงค์งดแอลกอฮอล์ในประเพณีต่างๆ ทำให้เห็นชัดว่าในงานจะไม่มีการดื่มเหล้าให้เห็น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ดื่มและขายเสรี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนการรณรงค์ให้จัดแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้า ปลอดเบียร์ มาต่อเนื่อง 15 ปี โดยสร้างความตระหนักคุณค่าของงานประเพณีวัฒนธรรมที่มีความปลอดภัย ให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคม วิถีชุมชน จารีตประเพณี และสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนเยาวชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง ได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้จัดงานทั่วประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดจากคนเมา ทั้งอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาทลดลง โดยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว งานแข่งเรือที่น่านเกิดอุบัติเหตุ 100 กว่าครั้ง ปัจจุบันเหลือเพียง 10 กว่าครั้ง ลดการเสียชีวิต บาดเจ็บ รวมถึงสูญเสียทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล ปัจจุบันมีการขยายผลส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นใหม่ทุกภูมิภาค จัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมที่ดีปลอดเหล้า บุหรี่ และอบายมุข และเป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
นายวิษณุ ศรีทะวงษ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่ายเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ทั้งแข่งเรือปลอดเหล้า สงกรานต์ปลอดเหล้า ลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดพลุ งานศพงานบุญปลอดเหล้า ทำให้สถานการณ์การดื่มของ จ.น่านลดลง หากมองเฉพาะงานแข่งเรือปลอดเหล้าที่มีการแข่งขัน 3 เดือน สถิติอุบัติเหตุเมา จมน้ำ และเสียชีวิตลดลง เมื่อคำนวณค่าอายุยืนคนเมืองน่าน ทำให้คนเมืองน่านอายุยืนสุดในประเทศ อย่างเรือแข่งพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ยังลงมาพายเรือ 40-50 คน กันหลายลำ ถือว่าแข็งแรง ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นวงการแข่งเรือที่เป็นการรับจ้างพาย แต่ที่นี่ต้องซ้อมทุกเย็น เป็นวิถีชาวบ้านที่มีไม่กี่แห่งและเหลือน้อยเป็นข้อดีของจังหวัดน่าน ส่วนกรณีที่มีสถิติว่า จ.น่าน มีอัตราการดื่มในปี 2564 เป็นอันดับ 1 แต่ถ้าดูแนวโน้มของกราฟการดื่มจะพบว่า ในรอบ 20 ปีของการรณรงค์นั้นลง แต่อัตราการลงอาจจะไม่เท่าหลายจังหวัด เพราะน่านมีจากคนนอกหรือนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวช่วงไฮซีซั่นทำให้ปริมาณการดื่มมากขึ้น ก็อยากจะให้ความเป็นธรรมกับชาวน่านด้วย เพราะไลฟ์สไตล์ไม่ได้มีการเที่ยวกลางคืน 2-3 ทุ่มก็เงียบหมดแล้ว