ชวนออเจ้าเที่ยว “อยุธยา” ไหว้พระ-นอนโฮมสเตย์ตามรอยละคร


ชวนออเจ้าเที่ยว “อยุธยา” ไหว้พระ-นอนโฮมสเตย์ตามรอยละคร สัมผัสวัฒนธรรมยุคเก่า

.ads-billboard-wrapper{display:flex;min-height:250px;align-items:center;justify-content:center}

ไหว้พระ 10 วัดดังกรุงเทพฯ ความหมายดี เสริมมงคลตลอดปี

“ละโว้-อยุธยา” 2 ราชธานีที่ยิ่งใหญ่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ไม่ได้สวยงามแค่เพียงหน้าจอ! นิวมีเดีย พีพีทีวี จักชวนออเจ้ามาท่องเที่ยว “อยุธยา” ตามรอยละครเรื่อง พรหมลิขิต ภาคต่อของละครบุพเพสันนิวาส ที่กำลังออนแอร์อยู่ตอนนี้ ให้ได้สัมผัสเสน่ห์วัฒนธรรมยุคเก่านอกเหนือจากบนโทรทัศน์

เพราะเชื่อว่าหากใครได้ดูละครกันแล้ว คงอยากย้อนรอยประวัติศาสตร์ นุ่งสไบ กินอาหารไทยบนเรือน หรือนอนโฮมสเตย์ย้อนยุคกันให้ได้สักครั้ง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นวัฒนธรรมไทยที่เราภูมิใจ ทำตามกันได้ง่าย แถมยังเดินทางสะดวกอีก

ดังนั้นจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนน่าสนใจบ้าง ตามมาดูกันเลย!

5 วัดสวย เที่ยวตามรอยละคร

วัดพระราม

วัดพระราม ตั้งอยู่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มีพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่มองเห็นเด่นชัดแต่ไกล องค์ปรางก่อด้วยอิฐสอปูนเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ที่นิยมทำเป็นปรางค์เพราะได้รับอิทธิพลแบบเขมรโบราณจากเมืองละโว้ (ลพบุรี)

ภายในวัดนี้ จะมีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด ซึ่งสันนิฐานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองกรุงศรีอยุธยา เพราะคงจะมีการขุดเอาดินในหนองมาถมพื้นที่วังและวัด  พื้นที่ที่ขุดเอาดินจึงกลายเป็นบึงใหญ่ มีชื่อปรากฎในกฎมณเฑียรบาลว่า “บึงชีขัน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” ปัจจุบันคือ “สวนสาธารณะบึงพระราม”

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499 และช่วงชิงทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป

ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไม่เหมือนวัดอื่นๆ  ในอยุธยา อีกทั้งยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง ด้วยความสวยแปลกตาที่ไม่เหมือนใครและความร่มรื่นของบรรยากาศที่นี่ ทำให้เป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในอยุธยาที่นักท่องเที่ยวนิยมไป

อย่างไรก็ตามวัดแห่งนี้ยังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เรียกว่า ตั้งตรงกับทิศทางคตินิยมในการสร้างวัดที่ปฏิบัติเป็นประเพณีสืบกันมา คือ สอดคล้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติที่กล่าวว่าพระโพธิสัตว์ทรงประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญสมาธิจนบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

มากกว่านั้นพระพุทธรูปซึ่งเป็นหลักของวัด ก็สร้างแทนองค์ประพุทธเจ้าคือพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นปางที่แสดงเหตุการณ์ตอนพระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วย

วัดพระศรีสรรเพชญ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่บนถนนศรีสรรเพชญ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยวัดนี้ถือเป็นสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวง เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย

วัดมีจุดที่น่าสนใจที่สำคัญคือ เดิมที่ตั้งของวัดเคยเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางทิศเหนือต่อจากเขตวัดจรดแม่น้ำลพบุรี และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1991

นอกจากนี้ใจกลางวัดยังมี เจดีย์ทรงลังกา จำนวนสามองค์ที่วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. 2035 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ก็ทรงให้สร้างเจดีย์องค์ต่อมา (องค์กลาง) ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)  และในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ก็ทรงสร้างเจดีย์อีกองค์ในฝั่งทิศตะวันตกให้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  (พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) ) รวมเป็นสามองค์ตามปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามวิหารปลายทิศตะวันออกของพระเจดีย์องค์ที่ 1 นี้เรียกว่า “พระวิหารหลวง” บริเวณนี้เคยมีพระพุทธรูปหุ้มทองคำหนัก 286 ชั่ง หรือ 171 กิโลกรัม เท่ากับ 12,880 บาท ประทับยืนสูงถึง 8 วา หรือ 16 เมตร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในสมัยอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2043 แต่เมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองไปหมดสิ้น จนเหลือแต่แกนในพระซึ่งทำด้วยสำริด

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอัญเชิญแกนในพระศรีสรรเพชญ์นี้ลงไปที่กรุงเทพมหานครและสร้างพระเจดีย์หุ้มแกนพระไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ แล้วถวายพระนามว่า “เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ดาญาณ” ตามองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อ พ.ศ.1927 

โดยมีสิ่งที่น่าสนใจในวัดมหาธาตุคือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตา

ไปทั้งอยุธยาทีก็อยากให้เที่ยวกันอย่างจุใจ แวะชมทั้ง 5 วัดนี้วันเดียว คงจะถึงเวลาพลบค่ำ ทางทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี จึงได้รวบรวมโฮมสเตย์แบบไทยๆ จากกรมท่องเที่ยว มาให้ลองดูกัน!

2 โฮมสเตย์ไทย สัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โอมสเตย์เกาะเกิด

ตั้งอยู่ที่ 13/5 หมู่ 5, ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนเกษตรในอำเภอบางปะอินที่รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาแบบชาวอยุธยา ผ่านกิจกรรมเชิงเกษตรและพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมทำสมุนไพร และกิจกรรมทำขนมไทย ขนมข้าวยาคู รวมถึงหมี่กรอบโบราณ

หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย

หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย ตั้งอยู่ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะมีโฮมเสตย์แบบสไตล์ย้อนยุคให้ทุกคนได้ลองไปสัมผัสกับการเป็นออเจ้าในสมัยอยุธยาแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมดีๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของช่างฝีมือยุคกรุงศรีฯ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น เรียนรู้การทำอิฐมอญ หรือ ฝึกความแข็งแรงผ่านกิจกรรมศิลปะแม่ไม้มวยไทยแบบต้นตำรับ หรือ เรียนรู้การทำขนมมงคลโบราณสูตรชาววัง การทำยาหม่อน สบู่สมุนไพร และกะลานวดเท้า ที่ชุมชนอนุรักษ์และสืบทอดกันต่อกันมารุ่นสู่รุ่น

ขอบคุณข้อมูลจาก : จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และ Thailand Village Academy

ขอบคุณภาพจาก : PPTV และ Google Map

วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

.trc_rbox_container{text-align:left!important}.trc_user_exclude_btn{z-index:500!important}.sport-live .trc_rbox_header_span{color:#00adc8}.trc_rbox_header_span{font-size:30px;line-height:1.5}.trc_elastic .thumbnails-a .video-label-box{height:auto}


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *