ดื่มน้ำมากวันละเป็นแกลลอนอาจไม่ช่วยลดน้ำหนัก


รูปสาวจีนดื่มน้ำ

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

เมื่อ 11 นาทีที่ผ่านมา

คนที่กำลังพยายามลดน้ำหนัก อาจเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่าให้ดื่มน้ำมาก ๆ ยิ่งดื่มให้ได้ถึงวันละ 1 แกลลอน (4.5 ลิตร) ก็ยิ่งดี เพราะน้ำจะไปเพิ่มระดับการเผาผลาญใช้พลังงานในร่างกายให้สูงขึ้น รวมทั้งช่วยลดความอยากอาหารลงด้วย

แม้วิธีลดน้ำหนักด้วยการดื่มน้ำจะฟังดูเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ ในทางทฤษฎี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าคำแนะนำดังกล่าวเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ โดยในปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันความถูกต้อง หรือมีผลการทดลองใด ๆ ที่จะมาสนับสนุนคำแนะนำนี้

ดร.ดูอาน เมลลอร์ หัวหน้านักโภชนาการจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอสตันของสหราชอาณาจักร มองว่าความเชื่อเรื่องดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดน้ำหนัก เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกาย ซึ่งเขาได้อธิบายไขความกระจ่างไว้ในบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Conversation ดังนี้

น้ำช่วยเพิ่มการเผาผลาญแคลอรีจริงหรือ

ในการทดลองกลุ่มเล็กกับอาสาสมัครวัยหนุ่มสาวจำนวน 14 คน นักวิจัยพบว่าการดื่มน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร จะทำให้อัตราการเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกายระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นการใช้แคลอรีหรือพลังงานที่เกิดขึ้นขณะคนเราอยู่นิ่งและไม่ได้ออกกำลังกาย เพิ่มสูงขึ้นราว 24%

แม้ผลการทดลองนี้จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่ระดับการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สามารถจะคงอยู่ได้นานเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้วไม่ได้ส่งผลให้เราใช้พลังงานเพิ่มขึ้น หรือลดน้ำหนักตัวลงได้มากมายแต่อย่างใด โดยร่างกายของผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากการดื่มน้ำ 500 มิลลิลิตร เพียง 20 แคลอรีเท่านั้น ซึ่งเท่ากับการเผาผลาญพลังงานที่ได้จากขนมปังกรอบบิสกิต 1/4 ชิ้น

ในการทดลองอีกครั้งหนึ่ง อาสาสมัครที่เป็นผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง 8 คน สามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานในร่างกายได้ 4% หลังจากดื่มน้ำเย็นจัด ซึ่งนับว่าเป็นการเผาผลาญแคลอรีที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องอยู่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะร่างกายสามารถใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย เพิ่มอุณหภูมิน้ำเย็นให้สูงขึ้นจนเท่ากับอุณหภูมิร่างกาย รวมทั้งช่วยให้ไตกรองของเหลวได้มากขึ้น

ดังนั้นการเผาผลาญพลังงานที่เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำ จึงไม่มากพอที่จะช่วยลดน้ำหนักอย่างจริงจังได้ แม้เราจะดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอีกจากระดับปกติถึงวันละ 1.5 ลิตร ก็ช่วยให้เผาผลาญเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่าแคลอรีจากขนมปัง 1 แผ่น ด้วยซ้ำ

รูปน้ำ 3 แกลลอน

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

ดื่มน้ำมากก่อนมื้ออาหาร ช่วยให้กินน้อยลงได้จริงหรือ

แม้จะฟังดูสมเหตุสมผล เพราะเมื่อกระเพาะอาหารเต็มไปด้วยน้ำ เราย่อมจะรู้สึกอิ่มจนความอยากอาหารลดลง และกินอาหารมื้อนั้นได้น้อยจนผอมลงในระยะยาวอย่างแน่นอน แต่ทว่าความเป็นจริงมันอาจไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น

ผลการศึกษาในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุพบว่า การดื่มน้ำก่อนมื้ออาหารทำให้กินได้น้อยลง จนน้ำหนักตัวลดลงไป 2 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งผลการทดลองนี้เป็นที่มาของคำแนะนำให้ผู้ป่วยหรือคนที่ไม่ค่อยเจริญอาหาร หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนหรือระหว่างมื้ออาหาร เพราะเสี่ยงที่จะกินน้อยลงจนขาดสารอาหารได้

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามในการทดลองกับคนหนุ่มสาววัย 21-35 ปี โดยนักวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างนี้ไม่มีใครน้ำหนักลดลงเลย ไม่ว่าพวกเขาจะดื่มน้ำหรือไม่ดื่มน้ำในมื้ออาหารก็ตาม

รูปชายหญิงดื่มน้ำ

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่บางคนสันนิษฐานว่า การดื่มน้ำไม่ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์กินอาหารน้อยลง เนื่องจากมนุษย์มีแรงขับดันเชิงวิวัฒนาการ ที่คอยกระตุ้นจิตใต้สำนึกให้เรารักษาขนาดของร่างกายให้คงที่เอาไว้ตลอดเวลา

ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังชี้ว่า การทดลองข้างต้นไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าการดื่มน้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอะไรกับระดับความอยากอาหารหรือไม่ และเมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของน้ำในทางเดินอาหารแล้ว น้ำยังสามารถไหลผ่านอาหารแข็งหรืออาหารกึ่งเหลวที่เรากินเข้าไป จนถูกขับออกจากกระเพาะอาหารได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการดื่มน้ำจึงไม่สามารถสร้างความรู้สึกอิ่มทนได้นานนัก

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การดื่มน้ำสะอาดสามารถจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ หากเราดื่มน้ำเพิ่มขึ้นในมื้อที่กินอาหารซึ่งมีปริมาณไฟเบอร์หรือกากใยสูง โดยน้ำจะช่วยให้ไฟเบอร์ขยายตัวเต็มที่ จนกระบวนการย่อยอาหารและขับอาหารที่ย่อยแล้วออกจากกระเพาะช้าลง ส่งผลให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นและไม่อยากกินจุบจิบนอกมื้ออาหาร

นอกจากนี้ การเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานและแอลกอฮอล์ที่มีแคลอรีสูง ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยลดน้ำหนักและรักษาสุขภาพได้อย่างยั่งยืนด้วย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *