ดูหนังดูละครกับเด็ก ๆ ต้องสอนอะไรพวกเขาบ้าง


เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำใจว่า “การเลือกเสพสื่อ” ให้กับบุตรหลานของตนเองในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก แม้ว่าเราจะพยายามคัดเลือกสื่อที่เหมาะสมให้กับเด็ก ๆ ของตนเองเป็นอย่างมาก แต่สื่อทุกวันนี้มีหลากหลายมากเกินไป อีกทั้งยังมีสื่ออีกหลายประเภทที่ไม่ได้จำกัดการเข้าถึงของเด็กมากเท่าที่ควร ทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ เด็กสามารถเข้าถึงได้แทบทุกสื่อแบบไม่มีจำกัด (หากผู้ปกครองไม่ควบคุมเอง) และแม้ว่าจะมีรายการช่องทางสาธารณะมากมายที่จัดเรตติ้งว่าเป็นรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำเด็ก ๆ โดยเฉพาะรายการละครและภาพยนตร์ แต่จะมีผู้ปกครองสักกี่คนที่จะมานั่งกำกับแนะนำเวลาที่ลูกหลานตัวเองนั่งดูละคร ในช่วงเวลาที่เด็กยังไม่นอน

แต่สังคมทุกวันนี้มันน่ากลัวเกินไปที่จะปล่อยบุตรหลานเราเอาไว้กับสื่อที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรว่าถ้าเด็กมาดู เด็กจะจำอะไรไปบ้าง แน่นอนว่ามันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองก็จริงที่ต้องควบคุมดูแลบุตรหลานของตัวเองให้ได้ แต่ในภาพรวมระดับใหญ่ ก็ควรจะให้ความสำคัญกับ “สื่อสร้างสรรค์” ให้มากสักหน่อย สื่อสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ เพราะมันสามารถทำให้สนุกได้โดยไม่ต้องหยาบคาย หยาบโลน หรือถ่อยให้ดูเท่แต่อย่างใด

เพราะเราไม่สามารถเข้าไปควบคุมการเสพสื่อของบุตรหลานได้ตลอดเวลา แต่จะมีบางช่วงเวลาที่เราอาจจะนั่งดูโทรทัศน์ร่วมกับบุตรหลาน อย่างช่วงที่ละครหรือภาพยนตร์ (ที่ออกฉายทางโทรทัศน์) มา ดังนั้น เราสามารถใช้เวลานี้ในการสอนและแนะนำบุตรหลานได้ว่าสิ่งที่เขากำลังดูอยู่นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร การที่เด็ก ๆ “ดูอยู่กับใคร” จึงน่าจะดีต่อการเรียนรู้ของพวกเขามากกว่า

พฤติกรรมที่ดีและไม่ดี

ละคร ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การ์ตูนสำหรับเองก็ตาม มักจะมีการสร้างตัวละครให้มีคาแรกเตอร์ของทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีเสมอ เพื่อให้มีปมขัดแย้งและมีเรื่องให้เล่า ถ้าผู้ปกครองนั่งดูอยู่กับเด็ก ๆ ต้องใช้โอกาสนี้ในการสอนให้เด็ก ๆ รู้จัก แยกแยะอย่างมีวิจารณญาณว่าอะไรถูกอะไรผิดก่อน สอนให้รู้ว่าพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร แบบไหนดี ดูแล้วจำเป็นตัวอย่างได้ แบบไหนไม่ดี ไม่น่ารัก ทำแล้วทำให้คนอื่น ๆ เดือดร้อน ก็ต้องจำเหมือนกันว่าอย่านำไปทำตาม รวมถึงพยายามชี้แนะให้เห็นด้วยว่าผลลัพธ์ของพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างไร เด็ก ๆ มักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยที่ยังแยกแยะไม่เป็น จึงต้องรีบสอนให้รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี

ธรรมชาติของผู้คนที่มีความหลากหลาย

“โตไปไม่เหยียด” เป็นเรื่องที่ต้องสอนกันให้รู้ตั้งแต่เล็ก ๆ เลยนี่ล่ะ เพราะถ้าไม่สอนให้เข้าใจ เมื่อเด็กโตพอจะเข้าโรงเรียน พวกเขามีโอกาสที่จะไปบูลลี่ใส่เพื่อนในห้อง หรืออาจตกเป็นเหยื่อการบูลลี่จากเด็กคนอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งเด็กนี่แหละจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเหยียด หากพวกเขาไม่เคยถูกสอนให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างและความหลากหลายมาก่อน เด็ก ๆ เล่นกันอาจจะเหมือนการแกล้งกันธรรมดา แต่พอโตขึ้นมันจะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม ยิ่งสื่ออย่างละคร ภาพยนตร์ทุกวันนี้มักมีการเล่นมุกตลกที่ใช้เหยียดคนอื่นแฝงอยู่เยอะมาก รวมไปถึงพฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องชี้แนะให้เด็กเห็นว่าคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน แม้ว่าเราจะแตกต่างกัน

พรหมวิหาร 4 สิ่งที่ควรมีให้กับผู้อื่น

แน่นอนว่าการจะไปสอนเด็กเล็ก ๆ ว่าพรหมวิหาร 4 คืออะไรอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้และซึมซับคือความหมายของ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่างหาก เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข กรุณา คือ ความสงสาร ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา คือ ความปีติยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี และอุเบกขา คือ ความวางเฉยให้เป็นกลาง ไม่ซ้ำเติมคนที่กำลังทุกข์ เนื่องจากในละครหรือภาพยนตร์มักจะมีเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำเอาหลักพรหมวิหาร 4 เข้าไปจับและสอนได้ โดยการสอนนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับศาสนาก็ได้ เพราะศาสนาอื่นก็จะมีคำสอนลักษณะนี้คล้าย ๆ กัน มันเป็นวิธีสากลในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *