ต.ค.เงินเฟ้อพุ่ง0.83% หลังอาหาร-น้ำมัน-ค่าไฟแพงขึ้น


วันพฤหัสบดี ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 06.00 น.

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนตุลาคม 2567 เท่ากับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกสำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนักโดยดัชนีราคาผู้บริโภทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือน(มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2567เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (AoA)

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.95 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด ผลไม้สด ไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร และข้าวสารเจ้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง มะนาว น้ำมันพืช หัวหอมแดงกระเทียม ปลาทู และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เป็นต้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567 ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ผักสดบางชนิด ผลไม้บางชนิด และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา3. สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง 2. ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลงและ3.คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2-0.8 (ค่ากลาง ร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

<!–สนับสนุนข่าวโดย–>


<!–

window._taboola = window._taboola || [];
_taboola.push({
mode: ‘thumbnails-a’,
container: ‘taboola-below-article-text-links’,
placement: ‘Below Article Text Links’,
target_type: ‘mix’
});
–>


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *