คำเตือน! นับจากบรรทัดนี้จะมีการกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง ‘ธี่หยด’
ช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ‘ธี่หยด’ ถูกฉายบนจอแก้ว ได้กลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่น่าจับตาในปี 2566 เพราะนอกจากจะเป็นการนำความน่ากลัวที่เล่าเรื่องผ่าน ‘ผี’ กลับมาด้วยบรรยากาศที่แปลกใหม่แล้ว ยังสร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริงอีกด้วย
บทบาทของนักแสดงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครชื่อ “น้องแย้ม” ทำให้หลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อกสั่นขวัญผวา หวาดกลัวอาการผีเข้า
ในภาพยนตร์ขณะที่ ‘น้องแย้ม’ ถูกผีเข้านั้น เกิดอาการไม่เป็นตัวของตัวเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ สับสน หู่แว่ว ประสาทหลอน มีนิสัยก้าวร้าว และแตกต่างไปจากนิสัยเดิม ซึ่งทำให้ผู้คนรอบข้างมองว่าคือคนถูกผีเข้า
แต่ที่น่าสนใจ มีการพูดถึงอาการ ‘ผีเข้า’ ของน้องแย้ม ที่เชื่อมโยงมายัง ‘การรักษาทางการแพทย์’ อยู่ 2 ครั้ง
ในครั้งแรก คนเป็นพ่อพูดถึงน้องแย้มกับสมาชิกในครอบครัว บอกให้ไปพาไปหาหมอที่อนามัย เพื่อตรวจดูอาการให้แน่ใจว่าป่วยเป็นอะไรหรือไม่
ครั้งที่ 2 มีหมอผีมาช่วยปราบผี และพอเหมือนจะกำราบได้ หมอผีคนนี้ บอกให้รีบพาน้องแย้มไปที่อนามัย เพื่อให้หมอตรวจโดยเร็วที่สุด
เป็น 2 ครั้งที่หนังผีเรื่องนี้ พูดถึงการพาน้องแย้มไปพบหมอ หมอจริงๆ ที่อยู่ที่สถานีอนามัย
หรือว่าอาการผีเข้า แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในโรคทางการแพทย์ ที่ก็มีคำอธิบายถึงอาการที่ใกล้เคียงนี้อยู่เหมือนกัน
คำตอบในทางมุมมองทางการแพทย์ ที่อาจอธิบายเกี่ยวกับอาการเหมือนน้องแย้มในภาพยนตร์ธี่หยดนี้ได้ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า ลักษณะของอาการดังกล่าว อาจคล้ายกับ ‘โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน’ (anti-NMDAR) ซึ่งพบได้ทุกเพศ และทุกวัย
นพ.ธนินทร์ บอกต่อไปว่า โรคดังกล่าวมีสาเหตุจาก ‘ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน’ ต่อตัวรับชนิด NMDA (NMDA Receptor) ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ผิดปกตินี้ ร่างกายอาจสร้างขึ้นมาจากเนื้องอกรังไข่ หรือเนื้องอกอัณฑะ รวมไปถึงอาจเกิดขึ้นได้เองจากการติดเชื้อในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หากจำแนกอาการชัดๆ ของ ‘โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน’ จากข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพว่าช่างคล้ายกับอาการผีเข้าเหมือนกับที่หลายๆ คนเข้าใจกัน
นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้รายละเอียดว่า อาการของโรคนี้ จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายนำมาก่อน และจากนั้น จะมาพร้อมกับปัญหานอนไม่หลับ สับสน ก้าวร้าวหรือเซื่องซึม บุคลิกภาพเปลี่ยน
ที่สำคัญ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการตรวจรักษา อาการจะรุนแรงขึ้นและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น เคี้ยวปาก แลบลิ้น มือและเท้าขยับไปมาเองเพราะระบบประสาทผิดปกติ
“ระบบประสาทที่ผิดปกติ จะทำให้ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกายสูง-ต่ำผิดไปหมด ซึ่งอาการอาจรุนแรงไปถึงขั้นชักเกร็ง ซึม ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตได้” นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าว
นพ.ชลภิวัฒน์ ย้ำด้วยวว่า สำหรับอาการของโรคนี้ที่เหมือนกับอาการผีเข้า ในทางการแพทย์จะมองว่าเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษา ทั้งการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจระบบประสาท และส่งตรวจเลือดร่วมกับน้ำหล่อเลี้ยงสมองร่วมไขสันหลังเพื่อหาเชื้อไวรัส และหาชนิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ร่วมกับการตรวจอื่นๆ เช่น ตรวจเอ็มอาร์ไอ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
“แต่ปัญหาสำคัญคือการรักษาที่ล่าช้า เพราะอาการของโรคนี้มักถูกญาติเข้าใจผิดคิว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงละเลยให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจและรักษา โดยเฉพาะโรคนี้ผู้ป่วยควรต้องได้รับการรักษาอย่างทันที เพื่อให้ผลการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายได้ผลมากที่สุด เพราะเป็นโรคและอาการที่เกี่ยวกับสมอง และระบบประสาทไขสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย” นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวตอนท้าย