
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
เมื่อ 50 นาทีที่ผ่านมา
หลังจากทรู-ดีแทค ควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ เป็นเวลา 8 เดือนเต็ม ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ
คดีนี้เป็นคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติ กสทช. ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ดีแทค รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค 2565
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ระบุถึงระยะเวลาการฟ้องคดีว่า แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี แต่บริการโทรคมนาคมถือเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ ตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมที่มีผู้ประกอบการน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง
ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป
ทรู และดีแทค ได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566
และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทรูได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ควบรวมบริษัทย่อย ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของดีแทค เข้าสู่ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) แล้ว โดยจดทะเบียนควบบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 มีผลให้ DTN หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังแยกการทำการตลาดเป็นสองแบรนด์ตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้
ภายใต้ความเคลื่อนไหวเรื่องการควบรวมกิจการของสองค่ายมือถือที่เสร็จสิ้นมา 8 เดือนเต็ม หนึ่งในเรื่องสำคัญที่กระทบต่อสิทธิของผู้ใช้มือถือ ซึ่งแทบไม่ถูกพูดถึง คือมติของ กสทช. ที่ระบุว่าหลังการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ต้องมีการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ให้ได้ภายใน 90 วัน
เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการควบรวมกิจการที่พ่วงมากับ มติ กสทช. ที่ “รับทราบ” การควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นมติ กสทช. ที่ศาลปกครองสูงสุด เพิ่งรับคำฟ้องล่าสุด
ทรูอ้างค่าบริการโทรลด 15% ค่าอินเทอร์เน็ตมือถือลด 80% แต่งานวิจัยชี้ไม่น่าเป็นไปได้
หนึ่งในเงื่อนไขการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทคที่ กสทช. กำหนด คือ มาตรการกำหนดเพดานราคาของอัตราบริการเฉลี่ย โดยคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลง 12% ใน 90 วัน
บีบีซีไทยเข้าใจว่า การลดเพดานอัตราค่าบริการลง 12% หมายถึง ราคาค่าบริการมือถือที่ลดลงของทั้งสองค่าย ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน หรือแบบเติมเงิน
จากรายงานวิจัยนโยบายของ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ในงานวิจัยชื่อว่า “กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC” ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ในการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมพบว่า ทั้งสองค่ายได้รายงานข้อมูลอัตราค่าบริการด้วยวิธีเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักให้กับ กสทช. แล้ว โดยทางกลุ่มบริษัทที่ควบรวมอ้างว่า ค่าบริการโทรลดลงราว 15% และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตมือถือลดลงราว 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการควบรวมธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้
รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก “ทุกค่ายมือถือ” ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%
ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวกับบีบีซีไทยถึงผลสำรวจนี้ว่า มีผู้บริโภคบางกลุ่มจ่ายน้อยลง แต่น้อยลงด้วยปริมาณการใช้งานที่น้อยลงด้วย เช่น ซื้อแพ็กเกจลดลงหรือเปลี่ยนไปใช้ระบบเติมเงิน ทำให้ดูเหมือนว่าราคาที่ผู้บริโภคจ่ายลดลง แต่กระนั้น ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น
“ถ้าไม่ได้ลดตัวแพ็กเกจหลัก ๆ ที่ผู้บริโภคใช้ก็จะไม่มีผล กลับกันหลังจากควบรวมทรู-ดีแทค แพ็กเกจต่ำสุดปรับราคาขึ้นทั้งสองค่าย รวมทั้งเอไอเอสด้วย” นักวิจัยจาก 101 PUB กล่าว
ทิศทางชี้ถึงช่วง “สิ้นสุดสงครามราคาค่าโทรศัพท์”
รายงานวิจัยชุดนี้พบด้วยว่า เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย
“ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา” นักวิจัย 101 PUB ระบุ
ฉัตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า หากลองดูงบการเงินของกลุ่มบริษัททรู-ดีแทค และรายงานวิเคราะห์การเงิน พูดสอดคล้องกันว่านี่เป็น “การสิ้นสุดสงครามราคาค่าโทรศัพท์”
“ที่ผ่านมา ถ้าดูราคาเฉลี่ย เทรนด์แต่ละปีมันลงมาหลายเปอร์เซ็นต์มาก แต่เมื่อสิ้นสุดเดือน มิ.ย. หรือเข้าไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา นับว่าเป็นครั้งแรกที่ราคาไม่ลง และค่าเฉลี่ยรายได้ที่ได้ต่อ (ผู้ใช้บริการ) หนึ่งคนเพิ่มขึ้นมา 1 บาท คล้าย ๆ เป็นจุดที่สัญญาณเปลี่ยนจริง ๆ” ฉัตรกล่าว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ทำไมการคำนวณของทรู-ดีแทค จึงบอกว่าค่าบริการลดลง
คณะวิจัยพบว่า ชุดข้อมูลที่กลุ่มบริษัทควบรวมนำส่ง กสทช. หลังการควบรวม ยังมีความคลุมเครือและไม่เชื่อมโยงกับชุดข้อมูลที่ทางสองบริษัทเคยส่งให้กับ กสทช. ก่อนหน้านี้ เช่น จำนวนแพ็กเกจที่ให้บริการในช่วงต้นปีที่รายงานต่อ กสทช. หลังการควบรวมมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากการรายงานก่อนการควบรวมทั้งที่เป็นช่วงเวลาการให้บริการเดียวกัน และมีแพ็กเกจส่วนที่ทับซ้อนกันน้อย
นอกจากนี้ วิธีการคำนวณด้วยการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักที่เพิ่งกำหนดใหม่ในครั้งนี้ อาจยังมีช่องว่างให้ผู้ควบรวมสามารถตบตาตัวเลข เช่น การแจกโปรโมชันหรือแพ็กเกจเสริมที่มีปริมาณการใช้งานได้ฟรีเป็นจำนวนที่น้อยมากให้แก่ผู้ใช้บริการจำนวนมาก
คณะวิจัย อธิบายว่า เมื่อใช้วิธีการคำนวณราคาโดยเฉลี่ยที่มีการถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนผู้ใช้งาน โดยไม่คำนึงถึงปริมาณที่สามารถใช้งานได้จริง และอาจเป็นผู้ใช้งานรายเดียวกันกับที่จ่ายค่าแพ็กเกจหลักอยู่เดิมแต่ได้ของแถมขึ้นมา ก็จะทำให้ราคาโดยเฉลี่ยลดลงเป็นจำนวนมากได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ใช้บริการยังคงต้องจ่ายเงินค่าบริการในราคาเท่าเดิมและได้รับนาทีการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือที่ไม่ต่างไปจากเดิม
“วิธีคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ย เข้าใจว่าน่าจะยึดตามแพ็กเกจเป็นหลักอยู่ แต่ไม่ได้คิดว่าผู้ใช้งานแต่ละคนจ่ายเท่าไหร่” ฉัตร กล่าว
เสนอ กสทช. ดูข้อมูลจากผู้บริโภค
ผลสำรวจประสบการณ์การใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือของผู้บริโภคยังพบว่า หลังการควบรวม ผู้บริโภคพบปัญหาจากการใช้งานสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค ที่พบปัญหาการใช้งานเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น
ปัญหาที่เจอบ่อยขึ้น ได้แก่ ปัญหาความครอบคลุมของสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ปัญหาคุณภาพสัญญาณ และปัญหาการบริการและศูนย์บริการของผู้ควบรวมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้บริโภคได้
งานวิจัยดังกล่าวชี้ด้วยว่า มาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนดตอนควบรวม อาจยังไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะบังคับให้ผู้ควบรวมปฏิบัติตามได้จริง และมาตรการยังขาดตัวชี้วัดด้านความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการว่าครอบคลุมประชากรที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองด้วยหรือไม่
คณะวิจัย 101 PUB ชี้ว่า ข้อมูลอื่น ๆ นอกจากรายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ที่มาของภาพ, thai news pix
ลำดับเวลาการควบรวมทรู-ดีแทค
- 20 พ.ย. 2564 บอร์ด ทรู มีมติควบรวบ ดีแทค โดยตั้งบริษัทใหม่ทำคำเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข
- 20 ต.ค. 2565 กสทช. มีมติ “รับทราบ” การควบรวม โดยกำหนดเงื่อนไขการควบรวม เช่น การลดเพดานค่าบริการ 12%
- 10 พ.ย. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพิกถอนมติ กสทช. ไฟเขียวควบรวมทรู-ดีแทค
- 10 ธ.ค. 2565 ศาลปกครองยกคำร้องสภาผู้บริโภค โดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่ามติของผู้ถูกร้อง (กสทช.) น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
- 1 มี.ค. 2566 ทรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”
- 8 มี.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องคดีปกครอง ขอให้เพิกถอนมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ชี้เหตุเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- 3 ส.ค. 2566 ทรู แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ควบรวมบริษัทย่อย ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) บริษัทย่อยของดีแทค เข้าสู่ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) แล้ว โดยจดทะเบียนควบบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
- 30 ต.ค. 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องเพิกถอนมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565