ทส.จับมือมท.เดินหน้าขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารพุ่งเป้าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก


วันที่ 16 พ.ย. ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย (มท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระทรวง ทส.และกระทรวง มท. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า กระทรวง ทส. และกระทรวง มท. ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” ในปี 2564 ทส. ได้ดำเนินการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยพบว่า มีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ จำนวน 24.98 ล้านตัน เพื่อเป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศ ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจากร้อยละ 39 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 โดยมีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่การลด หรือทิ้งให้น้อยลง และมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ และเนื่องจากขยะอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากและให้เหลือขยะนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด ซึ่งในปี 2565  มท. ส่งเสริมการจัดการขยะอาหารโดยใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยสมัครใจ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซได้มากกว่า 1,870,000 กว่าตัน

นายอนุทิน กล่าวว่า ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาการจัดการของเสียชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ทั่วโลกลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 และต่อมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้การจัดการขยะเป็นวาระเร่งด่วน เพราะปัญหาขยะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน

นายอนุทิน กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดเป้าหมายความร่วมมือกันเกิดขึ้น ทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมีการจัดการขยะอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และทำให้ขยะมูลฝอยประเภทอื่นจัดการได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายของประเทศ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน มีกลไกต้นแบบในการสร้างแรงจูงใจให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน.


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *