นักวิจัยอเมริกัน เริ่มให้ไวรัสซิกากับอาสาสมัคร หวังช่วยผลิตวัคซีน-หาทางรักษา


นักวิจัยอเมริกัน ได้เริ่มต้นการให้อาสาสมัครรับเชื้อไวรัสซิกา (Zika) ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการศึกษาโรคชนิดนี้ รวมทั้งหาทางพัฒนาการรักษาและสร้างวัคซีนต้านในขั้นตอนต่อไป

การศึกษาที่รู้จักในชื่อว่า “โมเดลการติดเชื้อแบบควบคุมในมนุษย์” เป็นที่ถกเถียงอย่างหนักในวงการวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไวรัสซิกาเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงกับผู้เข้าร่วมและยังเป็นโรคที่ไม่มีการรักษา

ทางหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดว่าโมเดลการทดสอบใหม่นี้ ได้รับการพัฒนาโดยทีมวิจัยจาก Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health มีความปลอดภัยและมีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์

แอนนา เดอร์บิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins หัวหน้าการศึกษานี้ กล่าวว่าการพัฒนามาตรการป้องกันเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากไวรัสมีโอกาลกลับมาระบาดหนักได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการสร้างปัญหาด้านสุขภาพจิตให้แก่สตรีมีครรภ์ในภูมิภาคที่เคยพบการระบาดใหญ่อีกด้วย

ทีมวิจัยใช้ไวรัสซิกา 2 สายพันธุ์ในการทดสอบกับอาสาสมัครหญิง 20 คนที่ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และในการทดสอบขั้นต่อไปจะเริ่มทดสอบกับอาสาสมัครชาย เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้

โดยข้อมูลการศึกษานี้ได้นำเสนอในการประชุมประจำปีของ American Society of Tropical Medicine and Hygiene ที่นครชิคาโก

ทั้งนี้ ไวรัสซิกา แพร่เชื้อผ่านทางยุงเป็นพาหะนำโรค ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ แต่จากการระบาดใหญ่ของไวรัสซิกาในทวีปอเมริกาเมื่อช่วงปี 2015 และ 2016 แสดงให้เห็นว่าไวรัสซิกาอาจเป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์ และอาจทำให้ทารกมีภาวะพิการโดยกำเนิด เช่น ภาวะศีรษะเล็ก

ในเวลานี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาไวรัสชนิดนี้ และการระบาดใหญ่ในทวีปอเมริกาจบลงก่อนที่จะมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาได้ทัน โดยเมื่อปีก่อน มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิการาว 40,000 รายในทวีปอเมริกา

ทางองค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนว่าการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ทำได้ยาก และรูปแบบการแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติมีแนวโน้มเป็นปัจจัยกระตุ้นการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ที่พบใน 91 ประเทศทั่วโลก

  • ที่มา: รอยเตอร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *