ประวัติศาสตร์การขุดพบ ‘เกี๊ยว’ อาหารที่อยู่คู่ครัวชาวจีนมานาน 2,500 ปี


(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพไม่ระบุวันที่ของตุ๊กตาดินเผารูปพ่อครัว ยุคฮั่นตะวันออก (ปี 25-220) และยุคสามก๊ก (ปี 220-280) ที่ขุดพบจากสุสานในนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)

ปักกิ่ง, 25 ก.พ. (ซินหัว) — หลายคนอาจทราบดีว่าหนึ่งในกิจกรรมสำคัญช่วงเทศกาลวันตรุษของครอบครัวชาวจีนคือการกินเกี๊ยว หรือ “เจี่ยวจึ” ในภาษาจีนกลาง ไส้ขึ้นฉ่ายและกุ้ยช่ายในเกี๊ยวเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียรและอายุยืนยาวสำหรับชาวจีนตอนเหนือ ขณะที่ทางจีนใต้ เกี๊ยวทรงเงินตำลึงจีนโบราณ และ เกี๊ยวทอดสไตล์กวางตุ้ง (yau gok) ล้วนสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่

แม้จะเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทั้งในจีนและทั่วโลก ทว่าต้นกำเนิดของเกี๊ยวยังคงเป็นปริศนา นักโบราณคดีในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนให้ข้อมูลกับสำนักข่าวซินหัวว่า จากบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบ ทำให้เราทราบว่าเกี๊ยวมีความเป็นมาย้อนกลับไปนานประมาณ 2,500 ปีก่อน

ในอดีตกาลช่วงยุควสันตสารทหรือยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นครเถิงโจวในมณฑลซานตงทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากนครชวีฟู่บ้านเกิดของขงจื่อ ปราชญ์จีนชื่อดังไปประมาณหนึ่งชั่วโมง เคยเป็นราชธานีของรัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งนามว่ารัฐเซวีย

หวังตงเหมย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์มณฑลซานตง กล่าวว่าเมื่อปี 1978 นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบภาชนะสัมฤทธิ์แบบปิดสภาพสึกหรอชิ้นหนึ่งในหลุมฝังศพของกษัตริย์ผู้ครองรัฐเซวีย ซึ่งเสวยราชสมบัติเมื่อ 2,500 ปีก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่แงะภาชนะโบราณนี้ออกดู ก็พบอาหารทรงสามเหลี่ยมสีเหลืองยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกี๊ยว อีกทั้งอาหารนี้ยังปกคลุมด้วยผงแป้งสีขาวที่ลมพัดปลิวได้ เมื่อใช้ไม้จิ้มฟันสะกิดเบาๆ เนื้อของอาหารนี้ก็แตกออก เผยให้เห็นสิ่งที่ถูกยัดไส้อยู่ภายใน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไส้อะไร

หวังตงเหมยตั้งข้อสังเกตว่า สุสานแห่งนี้ไม่เคยถูกปล้นมาก่อน และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบภาชนะสัมฤทธิ์สำหรับใช้ในพิธีกรรมจำนวน 28 ชิ้น ภายในภาชนะบรรจุกระดูกวัว แกะ ไก่ และปลาที่ยังมีสภาพดี

หูซินลี่ หัวหน้าทีมนักโบราณคดีกล่าวว่า เท่าที่ตนทราบยังไม่เคยมีการค้นพบเกี๊ยวยุคโบราณที่เก่าแก่กว่านี้ ทั้งในมณฑลซานตงรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ บ่งชี้ว่าเกี๊ยวซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจีน น่าจะมีต้นกำเนิดในซานตง

ล่วงเลยมาจนถึงยุคฮั่นตะวันออก (ปี 25-220) และยุคสามก๊ก (ปี 220-280) ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ดูเหมือนว่าเกี๊ยวได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมอาหารของชาวจีน

พิพิธภัณฑ์มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป็นที่จัดแสดงหุ่นปั้นพ่อครัวยุคโบราณที่เก่าแก่ถึงสมัยฮั่นตะวันออกและสามก๊ก ซึ่งขุดพบจากสุสานแห่งหนึ่งในอำเภอจงของนครฉงชิ่ง ท่าทางของพ่อครัวท่านนี้ดูผ่อนคลาย และกำลังง่วนอยู่กับวัตถุดิบทำครัวมากมายบนเขียงตรงหน้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีเกี๊ยวรวมอยู่ในนั้นด้วย

เวินเสี่ยวหัว ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์อวิ๋นหยางในฉงชิ่งกล่าวว่า ตุ๊กตาดินเผาอื่นๆ นอกเหนือจากพ่อครัว เช่น หุ่นแรงงาน และหุ่นนักเต้นในยุคเดียวกันที่ขุดพบ มักมีสีหน้าท่าทีที่รื่นเริง สะท้อนถึงทัศนคติการมองโลกในแง่ดี อาหารการกินและเครื่องนุ่งห่มที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนแสดงถึงมุมมองการใช้ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังของผู้คนในพื้นที่แถบนั้น

ทั้งนี้ เฉพาะในฉงชิ่งเพียงแห่งเดียว ก็มีการค้นพบตุ๊กตาหุ่นปั้นดินเผาที่มีเกี๊ยวเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 10 ชิ้น จั่วจื้อเฉียง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเฉิงตู ให้ข้อมูลว่ามีการขุดพบรูปปั้นพ่อครัวโบราณจำนวนมากในแถบเสฉวนและฉงชิ่ง โดยมีความสูงตั้งแต่ 20-50 เซนติเมตร และมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยฮั่นตะวันออกและสมัยสามก๊ก โดยทั่วไปแล้วหุ่นพ่อครัวเหล่านี้จะมีวัตถุดิบหลากหลายวางอยู่บนเขียง และมักจะมีรอยยิ้มพิมพ์ใจบนใบหน้า ราวกับกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการทำครัว

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพไม่ระบุวันที่ของขนมอบและเกี๊ยวที่ขุดพบจากสุสานอัสตานา ในแคว้นถู่หลู่ฟาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน)

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบเกี๊ยวที่เก่าแก่ราวหนึ่งพันกว่าปี ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนด้วย หวังเหรินเซียง นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) กล่าวว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง จึงมีการขุดค้นพบขนมอบและเกี๊ยวจำนวนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) ที่ยังอยู่ในสภาพดีจากสุสานอัสตานา (Astana Cemetery) ในแคว้นถู่หลู่ฟาน (Turpan) ซึ่งเกี๊ยวเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับเกี๊ยวทั่วไปในปัจจุบันอย่างมากทั้งขนาดและรูปร่าง

หลู่หลี่เผิง นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซินเจียง กล่าวว่าจนถึงปัจจุบันมีการขุดพบเกี๊ยวสมัยราชวงศ์ถังจากสุสานอัสตานาแล้วประมาณ 20 ชิ้น แม้หลุมศพบางแห่งจะมีร่องรอยการถูกปล้น แต่เจ้าหน้าที่พบว่าเกี๊ยวมักอยู่ในภาชนะที่ทำจากกระเบื้องดินเผาหรือภาชนะไม้ ซึ่งถูกฝังไว้ข้างๆ ศีรษะของเจ้าของสุสาน จึงยากต่อการเข้าถึงของผู้บุกรุก

หวังเหรินเซียงให้ความเห็นว่า เกี๊ยวเป็นอาหารที่ทำง่ายทั้งยังใส่ไส้ได้หลากหลาย จึงตอบโจทย์ความชอบที่แตกต่างของคนแต่ละท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นการผสานกันอย่างลงตัวของความคล่องตัว รสชาติที่ถูกใจ และยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำให้เกี๊ยวสามารถดำรงอยู่คู่โต๊ะอาหารของชาวจีนมาได้นานถึง 2,500 ปี

ด้านหูซินลี่กล่าวว่า ตั้งแต่ยุคชุนชิวมาจนถึงปัจจุบัน เกี๊ยวเป็นอาหารที่สื่อถึงความผูกพันและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีน และยังเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงการมองอนาคตในแง่ดี พร้อมเสริมว่าเมื่อใดก็ตามที่กลิ่นหอมของเกี๊ยวอบอวลไปทั่วบ้าน ในใจของเขาจะท่วมท้นไปด้วยความทรงจำอันน่าตื่นเต้นของการค้นพบเกี๊ยว ในปี 1978

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพไม่ระบุวันที่ของอาหารรูปสามเหลี่ยมที่ขุดพบจากหลุมฝังศพของกษัตริย์ผู้ครองรัฐเซวีย เมื่อราว 2,500 ปีก่อน ในนครเถิงโจว มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *