
ว่ากันว่า “ประเทศไทย” มีจุดแข็ง คือ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ จึงได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” ที่มีความโดดเด่น
เจาะ ปีที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมอาหาร” ของไทย มีการส่งออกเป็นอันดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 2.6% และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียง อินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบสัดส่วนของพื้นที่และประชากรแล้ว ถูกวิเคราะห์ว่าไทย ยังสามารถคว้าโอกาสได้มากกว่านี้ เนื่องจาก ไทยยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญลำดับต้นๆ ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, น้ำตาล, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป รวมไปถึง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ด้วย
- สินค้าอาหารฮาลาล โดยเฉพาะ กลุ่มมุสลิมชาวจีนที่มีประชากรราว 30 ล้านคน
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดเกาหลี เนื่องจากไทยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติหลากหลาย โดยเฉพาะ รสจัดที่แตกต่างออกไป นอกจาก รสต้มยำแล้ว ยังมีรสชาติอื่นๆ ที่เกาหลีสนใจ เช่น รสลาบ รสแกงส้ม
- ตลาดอินเดีย ที่มีประชากรสูงมากและนิยมดื่มชา ซึ่งขณะนี้กำลังมองหาชาผลไม้จากไทย ที่มีความแปลกใหม่และแตกต่าง
ยอดส่งออก “อาหารอนาคต” พุ่ง 1,882 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ยังมองว่า “อาหารอนาคต” หรือ Future food ยังเป็นอีกความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทย เนื่องจาก ขณะนี้ทั่วโลก ให้ความสนใจกับ แนวคิด เรื่องความยั่งยืน (ESG) ผู้บริโภคเริ่มตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลกมากขึ้น ได้แก่
- อาหารฟังก์ชัน เป็นอาหารที่มีหน้าที่ชัดเจนเพื่อสุขภาพที่ดี เช่น น้ำผสมวิตามินซี อาหารใส่ไข่โอเมก้า อาหารที่ทำจากพืช (Plant Based)
- อาหารใหม่ (Novel food) คืออาหารที่มีการนำมาบริโภคเป็นวงกว้าง น้อยกว่า 15 ปี เช่น โปรตีนแมลง
- อาหารอินทรีย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย
สำหรับตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา
- เวียดนาม
- จีน
- เมียนมา
- กัมพูชา
โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกอาหาร Plant Based ไปยังสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแผนส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สอดคล้องกับ BCG โมเดล
ซึ่ง อาหารอนาคตช่วยสร้างความยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของโลก และสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม โดยในปี 2023 ไทยได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกอาหารอนาคตไว้ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยครึ่งปีแรกสามารถทำมูลค่าไปได้ 1,882.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มโลกปี 2024
- เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงหรือเนื้อเทียม
- การหมักเพื่อผลิตโปรตีนนม
- ธุรกิจจากสารพัดเห็ด
- ธุรกิจอาหารจากสาหร่าย
- อาหารที่พัฒนาตามโภชนาการหรือยีนส์เฉพาะบุคคล
- เครื่องดื่มเสริมอาหาร ที่ประเทศไทยเริ่มพัฒนาขึ้นมามาก
- ทางเลือกใหม่ๆ ที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล แต่ต้องดีต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ยังพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคนับหลังจากนี้ ไปจนถึง ปี 2026 ผู้บริโภค ยังคง ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ความปลอดภัยของอาหาร สินค้าที่มีนวัตกรรม หรืออาหารที่ช่วยจิตใจ ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องการความสะดวกสบาย อาหาร Ready-Meal, Ready to Eat, Ready to Cook จึงเติบโตดี และสินค้าต้องมีความคุ้มค่าทางราคาด้วย