.css-nh9sg4 #forum2022-logoSponsor{text-align:center;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text{font-family:”KaLaTeXa Display”;font-size:10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text span{background-color:#ffffff;padding:0 10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text::after{content:””;height:1px;width:100%;background-color:rgb(216,216,216);position:absolute;top:50%;left:0;-webkit-transform:translateY(-50%);-ms-transform:translateY(-50%);transform:translateY(-50%);z-index:2;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor{padding:0;margin:0;list-style:none;display:-webkit-box;display:-webkit-flex;display:-ms-flexbox;display:flex;-webkit-flex-wrap:wrap;-ms-flex-wrap:wrap;flex-wrap:wrap;gap:15px;-webkit-box-pack:center;-webkit-justify-content:center;-ms-flex-pack:center;justify-content:center;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor{height:80px;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor img{height:80px;}
ถือเป็นสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารแพร่สะพัดกันอย่างฉับไวผ่านช่องทางสื่อหรือแพลตฟอร์มต่างๆในโลกออนไลน์
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนสามารถกระจายไปถึงหูคนทั้งประเทศหรือไกลกว่านั้น ต่างจากสมัยก่อนที่จะรับรู้กันเฉพาะข่าวใหญ่ระดับโลก โศกนาฏกรรมวินาศสันตะโร คนดังเสียชีวิต หรือไฟสงคราม
แต่ด้วยความที่ข้อมูลรวดเร็วระดับเรียลไทม์ ยิงปุ๊บขึ้นในโทรศัพท์มือถือปั๊บ ประกอบกับแพลตฟอร์มโซเชียลที่ทำให้ทุกคน “มีปากกาในมือ” จึงทำให้หลีกหนีไม่พ้นที่จะทำให้การกระจายข้อมูลในลักษณะเขาเล่าว่า ร่ำลือกันมา หรือข้อมูลที่ผิดไปอย่างสิ้นเชิงเข้ามาครองสัดส่วนในตลาดข้อมูลข่าวสารมากขึ้นๆทุกขณะ
แถมลุกลามจนกลายเป็นเวทีของการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสารในทางการเมือง ความมั่นคงอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เราคุ้นหูจากคำว่า “ปฏิบัติการไอโอ” การกระจายข้อมูลเพื่อหวังผลในทางใด ทางหนึ่ง หรือการปั่นกระแสสงครามยูเครน-รัสเซีย หรือการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองในประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักข่าวอาร์ทีไอของไต้หวัน จัดงานเสวนาที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินัล 21 ใน กทม. เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้ออนาคตของเอเชียหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด การรับมือกับข่าวปลอมทั่วโลกและสงครามข่าวสาร มี นายเฮอร์เบิร์ต สวี๋ รองผู้แทนรัฐบาลสำนักงานฯไทเป ให้เกียรติเปิดเวที
นำวิทยากรจากสื่อมวลชนและองค์กรด้านข้อมูลดิจิทัลและเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาถกเถียงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางข้อมูลข่าวสารที่กำลังเป็นไป ซึ่งจากการที่ผู้เขียนเข้าไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้พบว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งแง่บวกและแง่ลบสุดโต่ง

นายสเตฟาน เดลฟูร์ หัวหน้าข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าวเอเอฟพี ยอมรับว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มีการแพร่กระจายของข้อมูลผิดๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องสงครามยูเครน ส่วนในภูมิภาคอาเซียนนั้น ก็มีบ่อยมากเรื่องการใช้คลิปเก่าภาพเก่าบอกเป็นเหตุการณ์ที่นู่นนี่ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในซีกโลกอื่น ไปจนถึงข้อมูลผิดๆเกี่ยวกับสุขภาพ
หากถามว่าข่าวที่ข้อมูลผิดแบบนี้ก็ไม่เห็นจะซีเรียสอะไร หลายคนก็จบเรื่องไปว่า โถ่ข่าวมั่ว ก็อยากจะเตือนว่าในความเป็นจริงนั้นมันมีผลลัพธ์ตามมา เพราะข้อมูลผิดๆส่วนมากจะเล่นกับ “อารมณ์ของคน” บางคนมองว่าน้ำท่วมก็คือน้ำท่วม แต่บางคนกลับมองว่า รัฐบาลห่วย ราชการทำอะไรอยู่ พอมากๆเข้าก็กลายเป็นเกลียดชัง ตั้งแง่ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่เป็นภัย จึงอยากแนะนำให้ทุกคนมอง “Source” แหล่งที่มาที่ไปของข้อมูลก่อนจะตัดสิน
ขณะที่นายอีธาน ถู ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยไต้หวัน ไอเอ แล็บส์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ทุกวันนี้มีแอ็กเคาต์ผู้ใช้งานจำนวนมากบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างผิดๆ ในยุคโควิด-19 ก็มีตัวอย่างผลกระทบให้เห็นมาแล้วว่า มีวัคซีนพอเพียงแต่คนไม่ไปฉีด ซึ่งปัญหามีอยู่ว่า การรับมือของสื่อมวลชนหรือหน่วยงานรัฐที่พยายามแก้ข่าว แสดงข้อเท็จจริงว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม มันสู้ความเร็วของเอไอในเรื่องการสร้างข้อมูล-กระจายข้อมูลไม่ได้ เราตามสปีดของมันไม่ทัน
“ส่วนตัวนั้นมีมุมมองว่า เป็นศึกที่เหนื่อย คอนเทนต์ที่ถูกระบบเอไอสร้างขึ้นมาจะไหลบ่าถาโถมกลบคอนเทนต์ของจริงที่เขียนโดยคนจริงๆและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาแล้ว มีโอกาสมากกว่าที่เราจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เพราะสู้ไม่ได้เรื่องปริมาณกับความเร็ว”

ส่วนนาย มิน ฉวน อู๋ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรดับเบิลธิ๊ง แล็บ ไต้หวัน อธิบายว่า นับวันการตรวจสอบยิ่งทำได้ยาก เพราะแอ็กเคาต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ปั่นกระแสมีความพยายามทำให้เหมือนเป็นแอ็กเคาต์ของคนจริงๆ อย่างเคสหนึ่งเป็นแอ็กเคาต์ใช้ชื่อของผู้หญิงคนไทย เขียนชื่อภาษาไทย แต่โพสต์ทุกอย่างเป็นภาษาจีน ซึ่งพอตรวจสอบแล้วก็พบว่า รูปโปรไฟล์เอามาจากรูปนางแบบฝรั่ง แต่มาตัดต่อใส่หน้าหญิงเอเชียเข้าไป พร้อมลงรูปในอัลบั้มตัวเอง ที่เอามาจากแหล่งต่างๆ ขณะที่การโพสต์ก็จะเป็นรูทีน เวลาเป๊ะๆ แถมเล่นโซเชียลเป็นบ้าเป็นหลังตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ซึ่งคนจริงๆ ยากที่จะทำได้ ปัญหาคือจะตรวจยังไงว่าบัญชีไหนเป็นบอต บัญชีไหนเป็นคนที่ถูกจ้าง หรือจริงๆแล้วเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ปั่นกระแสเรียก Traffic เรียกยอดเพื่อหวังทำกำไร
อย่างไรก็ตาม ขอมองแง่บวกว่า ให้มามองกันว่าสิ่งใดที่ทำให้คนเชื่อถือในคอนเทนต์นั้นๆ แน่นอนว่าในตลาดคอนเทนต์ย่อมมีการแข่งขันช่วงชิงความสนใจ เชื่อว่าในอนาคตจะมาถึงยุคที่คอนเทนต์ข้อมูลจริง จะเป็นอีกตลาดไปเลย ไม่ต้องมาแย่งความสนใจทำยอด ซึ่งจะทำให้การเผยแพร่ข้อเท็จจริง ความจริงทำได้สะดวกขึ้น
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ปัญหาที่กำลังเริ่มชัดเจนขึ้นคือ ปริมาณข้อมูลในโลกออนไลน์มีมากเกินไป กลายเป็น “อินฟอร์ เมชัน โอเว่อร์โหลด” ข่าวสารล้นหัว จนทำให้หลายคนยอมแพ้ ไม่สนใจอีกแล้วว่าอะไรเป็นข้อมูลจริงไม่จริง ขี้เกียจตรวจสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลและเป็นอันตรายอย่างยิ่งหลังจากนี้.
วีรพจน์ อินทรพันธ์