ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ปภาวดี เจนกิจเจริญชัย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.หนองบ่อ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เนื่องจากในระยะนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดมีฝนตก เกิดแอ่งน้ำขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุของยุงลาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก ส่งผลอาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ จึงพร้อมด้วย นายฉันทะ ตันประทุมวงษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 น.ส.มณีรัตน์ บัวดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 นายชัยโย พลายยงค์ แพทย์ประจำตำบล น.ส.วรรณรัตน์ กิจสมนึก ประธาน อสม. ร่วมกันลงพื้นที่บ้านหนองบวบหอม หมู่ 2 ต.หนองบ่อ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับ นายวสันต์ วิสัยชนม์ นายก อบต.หนองบ่อ นำคณะเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.หนองบ่อ จัดโครงการ “รณรงค์ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ประจำปี 2566 เพื่อให้เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่หมู่ 2 บ้านหนองบวบหอม
ทั้งนี้จึงขอเชิญชวน และขอความร่วมมือมายังประชาชนในการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ในการออกปฏิบัติงาน หากท่านประสงค์จะให้พ่นหมอกควันภายในบ้าน โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ พร้อมปิดประตูหน้าต่างทุกบานให้มิดชิด เปิดเพียงประตูทางเข้า 1 แห่ง หลังพ่นสารเคมีเสร็จแล้ว ให้ปิดประตูอบหมอกควันไว้ในบ้าน 20-30 นาที เพื่อฆ่ายุงลายที่เป็นพาหะภายในบ้าน ในการพ่นเคมีแบบหมอกควัน อาจเป็นอันตรายต่อเด็กทารก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และสัตว์เลี้ยงต่างๆ จึงขอให้ท่านนำเด็ก ผู้สูงอายุ ออกจากห้องในขณะปฏิบัติหน้าที่ ห่างบริเวณที่พ่นสารเคมีแบบหมอกควัน พร้อมให้ปิดภาชนะใส่อาหาร เพื่อป้องกันมิให้สารเคมีตกค้างลงในอาหาร หากมีสัตว์เลี้ยงต้องทำการขนย้ายออกจากบริเวณที่พ่นสารเคมีเป็นการชั่วคราว หลังจากพ่นสารเคมีแล้วประมาณ 30 นาที จึงสามารถขนย้ายกลับได้ พร้อมขอความร่วมมือช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จัดเก็บภาชนะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ภาชนะเหลือทิ้งในบริเวณรอบๆ อาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยทุกๆ 7 วัน และขอความร่วมมือทำความสะอาดพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน เช่น ถางหญ้า ตัดแต่งต้นไม้ที่รกซึ่งอาจจะเป็นที่เกาะพักอาศัยของยุงลายได้
“การรณรงค์ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก เพื่อแนะแนวมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ประจำปี 2566 เป็นการเตือนพี่น้องประชาชนให้เฝ้าระวัง และป้องกันโรคไข้เลือดออก อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงการป้องกันโรค และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เสี่ยงในการระบาดของโรคนี้อย่างมาก จึงแนะนำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ” น.ส.ปภาวดี.