สถาบันโรคผิวหนัง พัฒนา “คลินิกสะเก็ดเงิน” รพ.บางปะอิน หวังเป็นต้นแบบ รพ.ชุมชน ตรวจวินิจฉัยแยกกลุ่มไม่รุนแรงและรักษาได้ ไม่ต้องใช้ยาซับซ้อน ช่วยเพิ่มการเข้าถึง ลดค่าใช้จ่ายเดินทางไป รพ.ใหญ่ เผยทั่วประเทศผู้ป่วยรักษา 1 หมื่นรายต่อปี ทั้งที่อาจมีมากถึงแสนราย
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในพิธีเปิดงานวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day 2023) ตามแนวคิด“ACCESS FOR ALL” หรือ “เข้าถึง เท่าเทียม ทั่วไทย ได้คุณภาพ” ว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่สาธารณสุขทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากความรุนแรงของโรคมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น เพิ่มโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อน กระดูกและข้ออักเสบผิดรูป ซึ่งอาจสร้างความพิการทางกาย และผลกระทบต่อสุขภาพจิต นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังถูกรังเกียจจากสังคม เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นโรคติดต่อ ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะเก็ดเงินมากกว่า 125 ล้านคน ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ จึงมีวันสะเก็ดเงินโลกขึ้นในทุกวันที่ 29 ต.ค. ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินว่าพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยและประชาชน ในการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยถึงโรคดังกล่าว
“สถาบันโรคผิวหนัง จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ผู้ป่วยมีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกถึงความต้องการและความจำเป็นต่างๆ ของตนให้สังคมได้รับรู้ และให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ภายในแนวคิด ACCESS FOR ALL” พญ.อัมพรกล่าว
นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่เข้ารับการรักษามีประมาณกว่า 1 หมื่นรายต่อปี ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากระยะที่ไม่รุนแรงจะแยกยากจากโรคผิวหนังทั่วไป จึงอาจจะไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน ตัวเลขจริงอาจจะถึงหลักแสนราย สำหรับที่สถาบันโรคผิวหนังมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคสะเก็ดเงินเข้ารับการรักษา 5,000 รายต่อปี เป็นคนไข้รายใหม่ปีละ 1,300 ราย การรักษาได้เปิดเป็นคลินิกสะเก็ดเงินครบวงจร มีการรักษาทางกาย มีทั้งยาทา ยากิน ยาฉีด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาประเภทกดภูมิคุ้มกัน บางตัวมีราคาค่อนข้างแพง และยาช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง รวมถึงการฉายแสง
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาโดยแพทย์สาขาที่อาจจะเกี่ยวเนื่องกับข้อและกระดูก ที่สำคัญคือการรักษาทางจิตใจ โดยทีมสหวิชาชีพ เนื่องจากบางรายเป็นเรื้อรัง ต้องรักษา 10-20 ปี ส่งผลกระทบต่อจิตใจ การทำงานและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ครบวงจรส่วนใหญ่จะอยู่ใน รพ. โรงเรียนแพทย์ รพ.ใหญ่ๆ ซึ่งการรักษาหากสามารถวินิจฉัยแยกกลุ่มไม่รุนแรงได้ อาจไม่ต้องใช้ยาซับซ้อนมากและสามารถรักษาได้ใน รพ.ชุมชน ดังนั้น สถาบันโรคผิวหนังจึงได้ร่วมกับ จ.พระนครศรีอยุธยา พัฒนาต้นแบบคลินิกโรคสะเก็ดเงินใน รพ.บางปะอิน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายสะดวกขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หากดำเนินการได้ผลจะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยและการสำรวจ ทั้งนี้ ความชุกของผู้ป่วยโรคนี้ในปัจจุบันพบใน กทม.มากที่สุด เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวินิจฉัยโรคได้มากกว่า