ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร ม.เกษตรฯ เปิดตัวระบบประเมินคุณภาพรังนก ฝีมือคนไทยเครื่องแรกของโลก



นครปฐม – ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องประเมินคุณภาพรังนกอย่างรวดเร็วและไม่ทำลายตัวอย่างเครื่องแรกของโลก เผยเป็นการพลิกโฉมการประมูลรังนกผ่าน Application แบบออนไลน์ ในระบบ BET ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของผู้ขายและผู้จัดการประมูล และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ปัจจุบันกระแสความต้องการรังนก ในท้องตลาดทั้งในประเทศและในตลาดโลกยังคงมีความต้องการรังนกคุณภาพดี ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีเกษตรกรได้หันมาให้ความสนใจและลงทุนกับการเลี้ยงนกเพื่อจำหน่ายรังมากขึ้น แต่การซื้อขายแบบดั้งเดิมคือการจัดลานการประมูลในพื้นที่ต่างๆ โดยรูปแบบเดิมจะมีผู้จัดการประมูลจะมีการจัดสถานที่เพื่อให้ผู้ขายและผู้ซื้อมาพบกัน และมีการตรวจคุณภาพสินค้าเพื่อนำไปสู่การตั้งราคาและจบการซื้อขายที่ลานประมูล แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การประมูล “รังนกดิบ” เกิดการหยุดชะงัก ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียโอกาสในตลาดวงการรังนกเป็นวงกว้าง และมีมูลค่าความเสียหายในการขาดโอกาสในการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้


รองศาสตราจารย์ ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ ผู้เชี่ยวชาญด้าน near infrared spectroscopy ของ ISO และ European committee for standardization (CEN) และ UN FAO ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย Near Infrared (NIR) Technology ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การเลี้ยงนกเพื่อจำหน่ายรังนก ในประเทศไทยมีเกษตรกรที่ให้ความสนใจการเพาะเลี้ยงไม่น้อย ซึ่งตอนนี้ตนและทีมงานนักวิจัยคิดค้นนวัตกรรมระบบประเมินคุณภาพรังนกอย่างรวดเร็วและไม่ทำลายตัวอย่างเพื่อการซื้อขายในรูปแบบการประมูลออนไลน์ ระบบแรกของโลก ซึ่งระบบดังกล่าวได้ถูกนำไปติดตั้งและนำเข้าสู่ระบบปฏิบัติการ BET หรือ Bird’s Nests E-bidding Thailand ซึ่ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนกแอ่นตาปี” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำระบบดังกล่าวไปใช้ในลานประมูลรังนกดิบแล้ว

ดร.รณฤทธิ์ เปิดเผยอีกว่า ตนและทีมนักวิจัยได้รับโจทย์จากเกษตรกร “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนกแอ่นตาปี” มีความต้องการที่จะมีระบบในการตรวจสอบคุณภาพของรังนก ซึ่งโดยปกติจะใช้วิธีการเปิดลานประมูลแบบดั้งเดิมคือ การที่เกษตรกรจะนำรังนกของตนเองมาสถานที่จัดประมูล ซึ่งจะมีผู้ซื้อที่มีความชำนาญในการดูคุณภาพของรังนกด้วยตาเปล่า และตกลงในราคาซื้อขายกัน แต่ยังมีจุดด้อยในหลายเรื่อง ทั้งการหลุดสายตาของผู้มีประสบการณ์ทำให้ได้ราคาซื้อขายที่ไม่เป็นจริงตามคุณภาพของรังนกที่แท้จริง โดยการคิดค้นเครื่องมือและระบบดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ดร.รณฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับระบบประเมินคุณภาพรังนกอย่างรวดเร็วเครื่องแรกของโลกได้มีการกำหนดหัวข้อ 2 หัวข้อหลักๆ คือ ระบบตรวจสอบความชื้นและระบบการตรวจคุณภาพสีของรังนกและสิ่งปนเปื้อน ซึ่งความเสียหายจะเกิดจากการหยิบจับรังนกด้วยมือเปล่า อาจจะมีผลกับราคาโดยตรง ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องมือดังกล่าว คือการที่ผู้ขายจะนำตัวอย่าฝรังนกที่นำมาประมูล จำนวน 1 กิโลกรัมเทใส่ที่ถาด จากนั้นจะมีการทำฐานข้อมูลโดยจัดทำ QR CODE จากนั้นจะนำรังนกตัวอย่างดันผ่านระบบลูกกลิ้งซึ่งจะมีระบบ Near Infrared (NIR) Technology


เพื่อตรวจสอบในเรื่องของความชื้น และอีกส่วนจะมีกระบวนการบันทึกภาพถ่ายและทำการแยกระดับของความขาวสะอาด หรือการปนเปื้อน เช่น ขนนก และจัดลำดับของเฉดสีว่าอยู่ในระดับใด โดยการคิดค้นเฉดสีเป็นครั้งแรกของโลกเช่นกัน ซึ่งจะมีค่าระดับ W1 คือขาวที่สุด ไปจนถึงระดับ W5 จะเป็นสีขาวออกไปทางโทนสีเหลือง และจะมีตัว Stopper กั้นตัวถาดไว้ และจะมีเซ็นเซอร์ของระบบจัดการแบบอัตโนมัติ จากนั้นข้อมูลทุกอย่างจะถูกรวบรวมขึ้นเพื่อ Upload ไปยังระบบ Bird’s Nests E-bidding Thailand หรือ BET เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายสามารถประมูลรังนกจากที่ไหนในโลกก็ได้ และทำให้ได้คุณภาพรังนกที่สูงขึ้น ตอนนี้ที่ได้ดำเนินการไปมีข้อมูลว่า ผู้ขายสามารถได้ราคาของรังนกที่เป็นธรรม ผู้ซื้อจะได้สินค้าตรงตามที่ต้องการด้วย

ดร.รณฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับระบบและเครื่องมือดังกล่าวถือเป็นการพลิกโฉมวงการการประมูลรังนกครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นเครื่องมือที่คิดค้นโดยคนไทยและใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศทั้งหมด ซึ่งนวัตกรรมนี้จะทำให้ผู้ซื้อลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ทั้งค่ารถจากการเดินทาง ค่าโรงแรมที่ต้องมารอเข้าไปประมูลรังนก ส่วนผู้จัดจะลดจำนวนคนในกระบวนการจัดการประมูลแบบดั้งเดิม ส่วนผู้ขายจะลดความเสี่ยงจากการดูด้วยตาและจับสัมผัสจากผู้ซื้อและได้ราคาที่เป็นธรรม ซึ่งมีตัวเลขที่สูงขึ้นในทุกครั้งที่มีการประมูล


เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่ยืนยันด้วยวิทยาศาสตร์ผ่านเทคโนโลยี และกระบวนการดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้ รังนกของประเทศไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้น และสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดโลกได้ตามความต้องการของตลาด และทำให้เกษตรกรไทยมีอาชีพที่มั่นคงในชุมชนที่อาศัย และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *