ทำเอาแฟนๆหลายคนถึงกับตกใจ เมื่อคนใกล้ชิดได้เผยภาพปัจจุบันของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ หรือ ‘อาหลอง’ ผู้กำกับชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติ ในวัย 92 ปี ขณะรักษาตัวจากอาการป่วยที่โรงพยาบาล โดยอาหลองได้รักษาตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว
ซึ่งคนใกล้ชิดนำโดย ป๋าโก๋ พิเชษฐ ศรีราชา , โอริเวอร์ บีเวอร์ ฯลฯ ผู้จัดและผู้กำกับช่องดัง ได้พากันเข้าเยี่ยม ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ โดย ‘แก้ว ภักดีวิจิตร’ ลูกสาวอาหลอง ได้โพสต์ภาพของคุณพ่อพร้อมระบุแคปชั่นว่า ‘Always love, our super hero’ ซึ่งภาพที่เห็นอาหลองซูบผอมไปมากเลยทีเดียว ซึ่งบรรดาแฟนๆที่ได้เห็นภาพต่างส่งกำลังใจให้อาหลองหายจากอาการป่วยโดยเร็ว
ประวัติ ฉลอง ภักดีวิจิตร
‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ หรือ บุญฉลอง ภักดีวิจิตร หรือ ‘อาหลอง’ ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับละครโทรทัศน์ชาวไทย โดยเป็นผู้กำกับที่อายุมากที่สุดในโลก เจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อหนังแอ็คชั่น’ กับตำนาน ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2474 ปัจจุบันอายุ 92 ปี เป็นบุตรคนที่ 4 ของรองอำมาตย์โทพุฒ ภักดีวิจิตร กับมารดาชื่อ ลิ้นจี่ ‘อาหลอง’ จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และสำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์
ด้านครอบครัว
‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ สมรสกับ ‘สุมน ภักดีวิจิตร’ เมื่อปี พ.ศ. 2509 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เฉิด ภักดีวิจิตร, กัญจน์ ภักดีวิจิตร และบุญจิรา ภักดีวิจิตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 นางสุมนได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับ และปลายปีหลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตนั้น อาหลองได้แต่งงานใหม่กับ ‘พิมพ์สุภัค อินทรี’ วัย 38 ปี โดยเข้าพิธีแต่งงานที่ จ.ศรีสะเกษ
ฉลองเติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานเกี่ยวกับแวดวงภาพยนตร์ บรรดาพี่น้องล้วนทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น วิจารณ์ ภักดีวิจิตร, เขียวหวาน ภักดีวิจิตร และ วินิจ ภักดีวิจิตร นอกจากนี้ยังมีน้องชายของพุฒ สด ภักดีวิจิตร ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ส่วนพี่ชายอีกคน บุญศรี ภักดีวิจิตร ทำงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
เข้าสู่วงการบันเทิง
แรกเริ่ม ‘อาหลอง’ เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 ม.ม. จนถึง 35 ม.ม. ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์หลายราย อาทิ วัชรภาพยนตร์, ภาพยนตร์สหะนาวีไทย, ธาดาภาพยนตร์, นพรัตน์ภาพยนตร, นันทนาครภาพยนตร์, บูรพาศิลปะภาพยนตร์, รามาภาพยนตร์, ลดาพรรณภาพยนตร์ และ พิษณุภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่องแรกจากการกำกับโดยฝีมือของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ คือภาพยนตร์ 16 ม.ม. เรื่อง ‘จ้าวอินทรี’ นำแสดงโดย ‘มิตร ชัยบัญชา’ และ ‘พิสมัย วิไลศักดิ์’ สร้างโดย ‘รามาภาพยนตร์’ โดยใช้นามว่า ‘ดรรชนี’ ในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งอาหลองได้ดำเนินการสร้าง การถ่ายภาพ รวมถึงการกำกับด้วยตนเอง ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2511 จากนั้นมาอาหลองก็ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอีกมากมาย ทั้งยังโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
ผลงานละคร
ในด้านผลงานละคร ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ นับว่าเป็นผู้บุกเบิกละครแนวแอ็คชั่นของทางช่อง 7 สี ในนามบริษัท บางกอก ออดิโอ วิชั่น จำกัด คือ ‘ระย้า’ และ ‘อังกอร์ 1’ ซึ่งนำแสดงโดย พีท ทองเจือ และ เอ็มม่า วรรัตน์ สุวรรณรัตน์ และยังมีผลงานกำกับละครอีกมากมาย อาทิ ล่าสุดขอบฟ้า, เหล็กไหล, ชุมแพ, นักฆ่าขนตางอน
- ในปี พ.ศ. 2551 ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ ได้รับรางวัลเกียรติยศ ปูชนียบุคคลแห่งวงการบันเทิง จากสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2007
- ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ จากงานประกาศผลรางวัลสตั๊นท์แมนยอดเยี่ยมครั้งที่ 1
- ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลรางวัลมณีเมขลาเกียรติยศ บุคคลดีเด่นผู้ทรงคุณค่าในวงการโทรทัศน์ จากงานรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24
- ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
- ในปี พ.ศ. 2559 ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ ได้ตั้งบริษัทใหม่คู่กับภรรยาเป็นบริษัท อีนทรีย์ ออดิโอ วิชั่น จำกัด
และในปี พ.ศ. 2561 ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่คู่กับภรรยามาอยู่บ้านหลังใหม่ โดยเปลี่ยนบริษัทใหม่เป็น บริษัท โกลด์ ซี พี จี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
ผลงานการกำกับภาพยนตร์ของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’
จ้าวอินทรี (2511)
ลูกปลา (2512)
สอยดาวสาวเดือน (2512)
ฝนใต้ (2513)
ฝนเหนือ (2513)
ระเริงชล (2515)
2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515)
ทอง (2516)
ตัดเหลี่ยมเพชร (2518)
ไอ้เพชร (2519)
ตามฆ่า 20000 ไมล์ (2520)
ถล่มมาเฟีย (2520)
ขยี้มือปืน (2520)
ใต้ฟ้าสีคราม (2521)
รักข้ามโลก (2521)
ไอ้หนุ่มตังเก (2522)
คนละเกมส์ (2522)
ผ่าปืน (2523)
ทอง 2 (2525)
ล่าข้ามโลก (2526)
สงครามเพลง (2526)
ผ่าโลกบันเทิง (2527)
ซากุระ (2527)
นักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ (2527)
ปล้นลอยฟ้า (2528)
เปิดโลกมหาสนุก (2528)
ยิ้ม (2529)
ร้อยป่า (2529)
เพชรเสี้ยนทอง (2530)
ทอง 3 (2531)
ทอง 4 (2533)
ผ่าปืน 91 (2534)
มังกรเจ้าพระยา (2537)
สุดขีดมังกรเจ้าพระยา 2 (2539)
ทอง 7 (2547)