‘ยาระบาย’ ขาดตลาด! บางคนกินบ่อยหวัง ‘ลดน้ำหนัก’ แต่เป็นความเชื่อที่ผิด


Key Points: 

  • ยาระบายยี่ห้อ Miralax และ Glycolax ในสหรัฐกำลังขาดแคลน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในร้านขายยาทั่วประเทศ
  • ผู้คนยุคนี้นิยมซื้อยาระบาย-ไฟเบอร์มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ ลูกค้าที่ซื้อสินค้ากลุ่มนี้เป็นคนอายุน้อยระหว่าง 18 – 42 ปี ขณะที่ในอดีตจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัย
  • แพทย์จาก Mayo Clinic ชี้ว่า หลายคนคิดว่าจำเป็นต้องขับถ่ายทุกวันถึงจะดี นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงแล้วระบบขับถ่ายของคนปกติที่สุขภาพดีจะอยู่ระหว่าง 3 ครั้งต่อวัน ไปจนถึง 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์

ปรากฏการณ์ “ยาระบายขาดตลาด” กำลังเกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา มีรายงานจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารและซัพพลายเออร์จำนวนหนึ่ง ระบุว่า ยาระบายยี่ห้อ Miralax และ Glycolax ในสหรัฐกำลังขาดแคลน โดยพบว่าไม่มีสินค้าเหลือบนชั้นวางขายเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในร้านขายยาทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลเชิงวิเคราะห์จากบริษัท Pattern ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมไฟเบอร์ยี่ห้อ Metamucil และ Benefiber รายงานว่า ชาวอเมริกันค้นหาสินค้าคำว่า “ยาระบาย” ในแพลตฟอร์ม Amazon เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา

ไม่ต่างกับข้อมูลจาก จิสซัน เชเรียน ผู้ดูแลการตลาดของอาหารเสริมไฟเบอร์แบรนด์ Haleon ที่ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การที่ผู้บริโภคยุคนี้นิยมซื้อยาระบาย-ไฟเบอร์มากขึ้น อาจเป็นเพราะพวกเขาตระหนักรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแบคทีเรียในลำไส้กับภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าแปลกใจคือ ลูกค้าที่ซื้อสินค้ากลุ่มนี้เป็นประชากรที่มีอายุน้อยลงกว่าแต่ก่อน คืออายุระหว่าง 18 – 42 ปี ขณะที่ในอดีตจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัยหรือคนป่วยที่แพทย์ต้องสั่งจ่ายยาระบายให้

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ยาระบายขาดแคลนนั้น เกิดจากพฤติกรรมการกินของชาวอเมริกันที่ส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการท้องผูกได้ง่าย จึงนิยมซื้อ “ยาระบายและอาหารเสริมไฟเบอร์” มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้คนมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารแย่ลง ออกกำลังกายน้อยลง และมีความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ

ดร.จอร์จ พาโฟล ผู้บริหารสมาคมระบบทางเดินอาหารแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องบ้ามากที่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขามีปัญหาลำไส้ผิดปกติ จนต้องพึ่งพายาระบายมากถึงขั้นทำให้ยากลุ่มนี้ขาดตลาด

ขณะที่ ดร.ไบรอัน เลซี ศาสตราจารย์ด้านระบบทางเดินอาหารของ Mayo Clinic มองว่าสาเหตุที่ทำให้ยาระบายขาดตลาด ก็เพราะว่าผู้คนมีปัญหาด้านระบบขับถ่ายของพวกเขา รวมไปถึงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับนิสัยการเข้าห้องน้ำว่าต้องเข้าทุกวัน นั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะพึ่งพาอาหารเสริมและยาระบายมากเกินไป 

“หลายคนคิดว่าจำเป็นต้องขับถ่ายทุกวันถึงจะดี นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงแล้วระบบขับถ่ายของคนปกติที่สุขภาพดีจะอยู่ระหว่าง 3 ครั้งต่อวัน ไปจนถึง 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์” ดร.ไบรอัน ระบุชัด

ดร.ไบรอัน บอกอีกว่า จริงๆ แล้วหากต้องการหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก เพียงแค่เริ่มต้นด้วยการบริโภคผลไม้สด ผักสด และเมล็ดธัญพืชให้มากขึ้นในแต่ละวัน ก็ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น จึงค่อยเสริมด้วยเป็นผงไฟเบอร์หรือยาระบาย 

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาระบายบ่อยๆ เพราะนั่นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุที่เห็นผลเร็ว แต่อาจไม่ดีต่อสุขภาพเท่ากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินในระยะยาว 

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการด้านสุขภาพอีกคนอย่าง ดร.เจนนา ดิลอสซี ผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ได้ออกมาแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้ป่วยวัยรุ่นที่ใช้ยาระบายในทางที่ผิด คือ มีการใช้เพื่อหวังผลด้านการลดน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยในการลดน้ำหนักเลยก็ตาม 

“การใช้ยาระบายมากเกินจำเป็น อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำเรื้อรังและการสูญเสียสารอิเล็กโทรไลต์ในเลือด ในบางกรณีที่ผู้บริโภคใช้ยาระบายเป็นประจำ อาจต้องพึ่งยาระบายอยู่ตลอด เพราะหากไม่รับประทานแล้วจะไม่สามารถขับถ่ายได้เอง” ดร.เจนนา กล่าว

คนไข้วัยรุ่นหลายคนของ ดร.เจนนา เล่าว่า พวกเขาได้รับแนวคิด “ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ” เพื่อความผอมเพรียวและสุขภาพที่ดี จากแพลตฟอร์ม TikTok ผ่านการค้นหาแฮชแท็ก #GutTok ที่มียอดดูถึง 1.1 พันล้านครั้ง แม้ว่าวิดีโอเหล่านั้นไม่ได้ส่งเสริมให้กินยาระบายเพื่อลดน้ำหนักโดยตรง แต่ก็สนับสนุนความคิดที่ว่าการเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นจะทำให้มีรูปร่างดี 

อีกหนึ่งเสียงจากผู้บริโภคที่เคยติดกับดักความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรับประทานยาระบาย นั่นคือ “โซฟี สเปียร์ส” นักโฆษณาด้านแฟชั่น วัย 30 ปี ในลอสแอนเจลิส เธอเล่าว่าเมื่อก่อนตนเองก็เคยใช้ยาระบายมากเกินไปเช่นกัน เพราะมันช่วยให้รู้สึก “เบาสบาย” หลังจากขับถ่าย จึงใช้มาเรื่อยๆ 

“ฉันเคยมีช่วงวัย 20 ปีต้นๆ ที่ประสบปัญหาการกินที่ผิดปกติ จึงมีอาการท้องผูกอย่างหนัก และนั่นทำให้ฉันใช้ชีวิตผูกติดกับการกินยาระบายมาตลอด ไม่เช่นนั้นฉันจะรู้สึกอ้วน” เธอกล่าว จนกระทั่งเธอได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ดีต่อสุขภาพ เธอจึงลดการบริโภคลง และจะได้ยาระบายภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อรักษาอาการท้องผูกเท่านั้น

ดร.เจนนา ย้ำให้เห็นถึงข้อเสียของพฤติกรรมดังกล่าวด้วยว่า การใช้ยาระบายมากเกินจำเป็น อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำเรื้อรังและการสูญเสียสารอิเล็กโทรไลต์ในเลือด ในบางกรณีที่ผู้บริโภคใช้ยาระบายเป็นประจำ อาจต้องพึ่งยาระบายอยู่ตลอด เพราะหากไม่รับประทานแล้วจะไม่สามารถขับถ่ายได้เอง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารเสริมใดๆ ก็ตาม ก่อนจะซื้อมารับประทานผู้บริโภคควรศึกษาทั้งประโยชน์ ข้อควรระวัง และปริมาณการใช้ให้ละเอียด หรือปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อมาใช้จะดีที่สุด เพราะหากใช้ผิดวิธีหรือใช้มากเกินจำเป็น แทนที่จะได้ผลดีแต่กลับทำให้สุขภาพแย่ลง 

——————————————-

อ้างอิง : The Wall Street Journal


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *