เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า รัสเซียระงับการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นทั้งหมด ตามหลังแนวปฏิบัติล่าสุดของจีนเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น
หน่วยงานบริการของรัฐบาลกลางเพื่อการกำกับดูแลด้านสัตวแพทย์และสุขอนามัยพืช (Rosselkhoznadzor) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัสเซียที่รับผิดชอบในการควบคุมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกล่าวว่า “ได้เข้าร่วมมาตรการจำกัดชั่วคราวของจีนในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาและอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เพื่อเป็น “มาตรการป้องกันไว้ก่อน”
นอกจากนี้ยังระบุว่า ข้อจำกัดต่างๆ จะยังคงอยู่ไปจนกว่าจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่จำเป็นเพื่อยืนยันความปลอดภัยของผลผลิตอาหารทะเล
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด หลังรัฐบาลโตเกียวเดินหน้าปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะที่รัฐบาลปักกิ่งตำหนิว่าเป็นความเห็นแก่ตัวและขาดความรับผิดชอบ
ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เกิดความเสียหายเพราะสึนามิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในระยะแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ในปฏิบัติการที่ยืนยันความปลอดภัยโดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และเริ่มปล่อยระยะที่สองเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม
แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากเพื่อนบ้าน ซึ่งนำโดยจีนที่นำเข้าอาหารทะเลมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์จากญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว
ในปี 2554 เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นพังทลายลง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 18,000 ราย
รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่ได้พิสูจน์ความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูลน้ำเสียนิวเคลียร์ และไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นรูปธรรมว่าการปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทรนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสุขภาพของมนุษย์
โดยรวมแล้ว รัฐบาลโตเกียวตั้งใจที่จะปล่อยมวลน้ำปริมาณ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (345,000 แกลลอน) ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายใต้กระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปซึ่งกินเวลาจนถึงทศวรรษ 2050 ตามกำหนดการอย่างเป็นทางการ
น้ำเสียดังกล่าวผ่านการบำบัดเพื่อกำจัดสารกัมมันตภาพรังสี ยกเว้นไอโซโทป จากนั้นจึงเจือจางด้วยน้ำทะเลก่อนปล่อยออก เพื่อให้แน่ใจว่าระดับกัมมันตภาพรังสีจะไม่เกิน 1,500 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานของญี่ปุ่นสำหรับการดำเนินการประเภทนี้ถึง 40 เท่า.