ผู้เขียน | สุชาฎา ประพันธ์วงศ์ |
---|
‘รางวัลสร้างนักเขียน’
เจนใหม่ตบเท้าสะท้อนสังคมผ่านวรรณกรรม
‘แมวขาวชะตาฟ้า’ คว้าที่ 1 รางวัลชมนาด ครั้งที่ 12
รอคอยด้วยใจจดจ่อทุกปี ปีนี้ก็เช่นกันกับการประกาศผลรางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 12 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้กับนักเขียนสตรีทั้งมืออาชีพและมือใหม่ ได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิง รวมถึงผลักดันยกระดับนักเขียนสตรีสู่สากล เพิ่งประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม
งานนี้ได้รับเกียรติจาก ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานมอบรางวัล ร่วมด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยศิลปิน นักเขียน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมไทย อาทิ อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด, นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, กนกวลี พจนปกรณ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา, บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน นักแปลอาวุโส ผู้ได้รับรางวัลสุรินทราช และรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ฯลฯ มาร่วมงาน
ปีนี้เป็นการประกวดประเภทนวนิยาย (Fiction-Novel) มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้าย 8 เรื่องจาก 25 เรื่อง ได้แก่ แม่ฮะ…ไม่เป็นไร, ปรารถนาสุดท้าย, แผ่นฟ้าลาตะวัน, แมวขาวชะตาฟ้า, โศกสะท้อน Echo of Lament, คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น, กานต์ปรียา และโลกสีเทาบนภูเขาหลากสี
สำหรับรางวัลชนะเลิศการประกวดรางวัลชมนาด ประจำปี 2566 ตกเป็นของ “แมวขาวชะตาฟ้า” โดย ลดาวัลย์ ใยมณี เจ้าของนามปากกา Ruk21us นวนิยายที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับเรื่องเล่าแนวที่คุ้นชินของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว การแย่งชิงมรดกและความอิจฉาริษยา ผู้ประพันธ์ผสมผสานแนวเรื่องแบบแฟนตาซีกับแนวคิดเรื่องชาติภพและคู่ทางจิตวิญญาณ (Soulmate) ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบย้อนเวลาข้ามภพ ได้รับรางวัลพร้อมเงินสด 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของ “คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น” โดย สุวรรณา แก้วศรี นามปากกา แก้ว การะบุหนิง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของเรื่อง “โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี” โดย เสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย นามปากกา เอิงเอย ได้รับเกียรติบัตรชมเชย พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมค่าลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เผยแพร่ภาษาไทย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า “วรรณกรรม” เป็นงานสร้างสรรค์ของบุคคลที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสภาพชีวิต สังคม และคตินิยมของงานทุกยุคทุกสมัย รางวัลชมนาดเป็นการประกวดวรรณกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างจากวรรณกรรมรางวัลอื่นๆ เป็นการประกวดวรรณกรรมที่มุ่งเน้นมอบให้แก่นักประพันธ์ที่เป็นสตรีเท่านั้น ทั้งนักเขียนมืออาชีพ นักเขียนมือใหม่ และผู้ที่สนใจในงานวรรณกรรม ได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิงบนเวทีคุณภาพแห่งนี้ เพื่อจะได้มีโอกาสเดินก้าวต่อไปสู่อนาคตที่มั่นคงในอาชีพ ความภาคภูมิใจในผลงาน และพร้อมที่จะเป็นนักเขียนระดับนานาชาติต่อไป
“ในนามของธนาคารกรุงเทพ ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการรางวัลชมนาดทุกท่าน ทีมงานทุกคน ได้ดำเนินการสร้างสรรค์งานคุณภาพที่ดีเช่นนี้ต่อไป”
ขณะที่ พันฤทธิ์ เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวว่า การประกวดรางวัลชมนาดปีนี้เข้มข้นกว่าทุกปี เป็นเวทีที่มุ่งส่งเสริมนักเขียนสตรีให้มีพื้นที่สำแดงฝีมือการประพันธ์โดยไม่จำกัดวัย สถานะทางการศึกษา หรืออาชีพ โดยคณะผู้จัดงาน คณะกรรมการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างมีความพยายามที่จะผลักดันศักยภาพ นำผลงานนักเขียนหญิงไทยสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอดผลงานสู่การสร้างสรรค์บทละคร ภาพยนตร์ และเกม โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อวางจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในทวีปอเมริกา, ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น
‘รางวัลสร้างนักเขียน’
คนรุ่นใหม่ตบเท้าเข้าร่วมคึกคัก
รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ว่ามีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งแนวสืบสวนสอบสวน แฟนตาซี นิยายชีวิต ฯลฯ
ข้อดีของรางวัลชมนาดคือ มีการพิมพ์เป็นเล่มให้ มีบรรณาธิการเล่มให้ด้วย เป็นความชื่นใจสำหรับคนทำหนังสือ แม้สถานการณ์ของหนังสือเล่มในปัจจุบันที่ผู้อ่านหันไปอ่านออนไลน์กันมาก การที่ธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุนทำให้เกิดกำลังใจกับคนเขียน และนักเขียนหลายคนอยู่ในวัยกำลังเริ่มทำงาน เวลาเขียนงานมีไม่มาก แต่ถ้าตั้งใจตัดสินใจทำจะได้งานที่ดี เช่น “แมวขาวชะตาฟ้า” หนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของปีนี้
“เรามีนวนิยายที่เขียนเกี่ยวกับคนจีนในเมืองไทยจำนวนมาก แต่นี่เอามาปรุงให้มีความใหม่ในการดำเนินเรื่อง และมีแนวคิดสำคัญที่นำเสนอด้วยว่า ทำไมคนเราต้องทำให้เกิดบาดแผลซึ่งกันและกันขนาดนั้น บางทีการยึดถือในค่านิยมและประเพณีปฏิบัติที่ทำร้ายกันก็เป็นสิ่งที่น่าจะต้องทบทวน”
ความโดดเด่นคือ การสร้างให้เรื่องที่เราคุ้นชิน เรื่องเล่าของชีวิตชาวจีนที่ถือขนบเคร่งครัด แล้วทำให้ทั้งลูกสาวลูกชายเกิดความอึดอัดคับข้องใจ บางคนเรียกว่าทำให้เกิดบาดแผลทางวัฒนธรรม โดยผู้เขียนใช้กลวิธีแบบแฟนตาซีในการเล่าเรื่อง เอาแมวมาทำให้เกิดการดำเนินเรื่องว่า ถ้าเราแก้อดีตได้จะแก้อย่างไร และถ้าแก้แล้วชีวิตจะพลิกไปอย่างไร นี่คือข้อโดดเด่น อ่านสนุก ชวนติดตาม และมีคุณค่าในเนื้อหาด้วย
รศ.ดร.ตรีศิลป์กล่าวอีกว่า ทิศทางการประกวดรางวัลชมนาดคือการสนับสนุนนักเขียนหญิง และสนับสนุนให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่ แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเขียนแบบไหน ผู้ชนะเลิศจะได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งดีมาก เพราะทำให้วรรณกรรมเป็นสากล เป็นที่รู้จักในจักในต่างประเทศ นี่คือข้อแตกต่างจากวรรณกรรมอื่น ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก พร้อมเงินรางวัลด้วย เพราะสำหรับคนเขียนหนังสือการได้ตีพิมพ์เป็นก้าวย่างที่สำคัญ
ยกตัวอย่าง ผู้ชนะรางวัลชมนาด ครั้งที่ 2 ธนัดดา สว่างเดือน ผู้เขียน “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” เคยไปขายแรงงานในต่างประเทศ การได้ตีพิมพ์หนังสือเป็นการพลิกชีวิตของเขาไปเลย เป็นที่รู้จักมากขึ้น และทำให้มีงานเล่มที่ 2 “ขังหญิง” ต่อมา เช่นเดียวกับ จันทรา รัศมีทอง ผู้เขียน “ความฝันของฉันทนา” เป็นช่างเย็บผ้าที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หันมาเล่าเรื่องของตัวเองและเมื่อได้รับรางวัล เกิดกำลังใจไปเขียนในเวทีต่างๆ
กล่าวได้ว่ารางวัลชมนาดเป็น “รางวัลสร้างนักเขียน” อย่างแท้จริง รางวัลเป็นตัวกระตุ้นให้หยิบเอาประสบการณ์ตนเองไปเขียนและเกิดความรักในอาชีพการเขียน
นักเขียนหญิง
ผู้เฝ้ามอง-สะท้อนสังคมผ่านวรรณกรรม
ทางด้าน นรีภพ จิระโพธิรัตน์ กล่าวว่า ความโดดเด่นในภาพรวมทั้ง 25 เรื่องที่เข้ารอบในปีนี้ คือเรื่องของตัวละคร ซึ่งมีความเข้มข้นมาก แต่มีความสะเทือนอารมณ์หนักเบาไม่เท่ากันในแต่ละเรื่อง เป็นความปวดร้าวที่สูญเสียความสัมพันธ์ในอดีต โดนความกดดันของครอบครัวและทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนจากดีเป็นร้าย
ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง “ปรารถนาสุดท้าย” ทำไมพ่อถึงข่มขืนลูก มองภาพรวมอาจมองว่าไม่สร้างสรรค์ แต่มันทำให้เรื่องเข้ม และเรื่องจะมีเหตุผล มีกาละ มีเทศะ ผู้เขียนเขียนอย่างมีลำดับขั้นตอน มีการคลี่คลาย สุดท้ายมีผลของการกระทำ นี่คือความเข้มข้นของเรื่อง
ไม่เพียงเจ็บปวดในเรื่องของครอบครัว เจ็บปวดในเรื่องของการเมืองก็มี เช่น เรื่อง “แผ่นฟ้าลาตะวัน” สะท้อนถึงอำนาจที่ได้มาง่ายๆ แต่ลงยาก ขณะเดียวกันความรักทำให้เกิดความเสียสละ เพื่อแผ่นดินเกิดของตัวเอง ผู้เขียนใส่อารมณ์ตัวละครได้ดี เช่นเดียวกับรางวัลชนะเลิศของปีนี้ “แมวขาวชะตาฟ้า” เป็นอีกความเจ็บปวดจากการกดดันของจารีต ผู้เขียนสร้างปมขัดแย้งได้ดี การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างรื่นไหล สอดแทรกเรื่องของปรัชญาธรรมะและสัญลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านต้องอ่านและคิดตาม
นรีภพกล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นคือ รางวัลชมนาดมีความแข็งแรงขึ้นทุกปี มีความหลากหลายและมีความลึกในอารมณ์ ละเอียดลออแม้กระทั่งตัวละคร ฉากต่างๆ นี่คือเสน่ห์ของนักเขียนหญิง และที่น่าแปลกคือ ในแต่ละปีจะมีความคล้ายคลึงกัน อย่างบางปีเป็นแนวดิสโทเปียเหมือนกันหมด “เป็นการจับสังเกตจากสังคมรอบตัวและนำเสนอ ทันยุค ทันเหตุการณ์ ทันสังคม ณ ตอนนั้น และนำเอาเหตุการณ์ตอนนั้นมานำเสนอเป็นนวนิยาย”
ดีใจที่แวดวงวรรณกรรมมีรางวัลประเภทนวนิยายให้กับนักเขียนผู้หญิง เราจะเห็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือปรากฏขึ้นทุกปี เป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นหลังๆ เพราะเราก็ต้องสร้างนักเขียนใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 13 ประเภท “นวนิยาย” (Fiction-Novel) เปิดรับผลงานแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 จนถึง 30 เมษายน 2567 ดูรายละเอียดหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.praphansarn.com Facebook : Praphansarn.com
สุชาฎา ประพันธ์วงศ์
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่