เหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้ว่าในหลาย ๆ ครั้งจะมีมาตรการรับมือสถานการณ์เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนก็ตาม แต่บางครั้งก็ต้องทำควบคู่ไปกับ “การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน” ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน มีข้อควรปฏิบัติหรือคำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติในขั้นตอนต่อ ๆ ไป พื้นที่ไหนมีเหตุร้ายที่ไม่ปลอดภัยจะได้ไม่เข้าไป หรือหากต้องอพยพออกจากพื้นที่จะได้ทำอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
Emergency Alert System การเตือนภัยฉุกเฉินที่ประเทศไทยยังไม่มี
สำหรับ Emergency Alert System หรือระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน จะเป็นข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติตลอดจนเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ จากรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเตือนภัยประชาชนในวงกว้างด้วย SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ในยุคนี้คนแทบทุกคนมีใช้ โดยใช้เทคโนโลยี “Cell Broadcast” ในการกระจายข้อความให้เข้าถึงคนจำนวนมาก ทำให้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น ใช้เครือข่ายสีอะไรก็ตามแต่ จะได้รับข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินเหมือนกัน
เวลานี้ Emergency Alert System ได้กลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยถามหาและอยากจะเห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในทุก ๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะภัยฉุกเฉินอย่างอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย พายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม กรณีสารเคมีรั่วไหลสู่ชุมชน น้ำมันรั่วกลางทะเล วัตถุกัมมันตรังสีสูญหาย โรงงานสารเคมีระเบิด แม้กระทั่งในวันที่ค่าฝุ่น pm2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงเหตุการณ์ร้ายแรงในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ดังเช่นกรณีกราดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้นกลางห้างดังใจกลางเมืองหลวง แต่กลับไร้ซึ่งข้อความเตือนภัยจากหน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยตรง
ข่าวกราดยิงกลางห้าง ทำให้ประเด็นการเรียกร้อง Emergency Alert System ได้เป็นกระแสจุดติดอีกครั้ง เพราะในขณะที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นนั้น ประชาชนหลายคนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุหรือที่กำลังจะเดินทางไปที่เกิดเหตุ ไม่ได้รับแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่อันตรายอยู่ข้างตัวพวกเขาขนาดนั้น พวกเขาไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนมากไปกว่าว่ามีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น มีคนบาดเจ็บ และมีคนเสียชีวิต กระทั่งสักพักที่เริ่มมีการรายงานข่าวในโซเชียลมีเดีย ส่วนผู้คนทั่วไปที่อาจเป็นญาติ ๆ ของคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ไม่ทราบเลยว่ามีการก่อเหตุสลดขึ้นในใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไม่เข้าโซเชียลมีเดียไปเจอข่าวเข้า แถมข่าวสารที่ออกมาในช่วงต้น ๆ ก็กระปริดกระปรอยสร้างความสับสนไม่น้อย
ทั้งที่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น คือ ประชาชนควรจะต้องรู้ข้อมูลเตือนภัยที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างทันท่วงที รวมไปถึงได้รับคำแนะนำสำคัญ ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย โดยเฉพาะการแจ้งอพยพอย่างถูกต้องและปลอดภัย ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ผู้คนจำนวนหนึ่งทราบข่าวจากการที่ประชาชนแจ้งข่าวกันเอง เตือนภัยกันเอง ทางห้างแจ้งเตือน มีการขึ้นแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านแอปฯ ส่งอาหาร นักเขียนนิยายแจ้งเตือนผู้อ่านผ่านเว็บไซต์แต่งนิยาย Readawrite รวมถึงแฮชแท็ก #พารากอน ในโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ประชาชนได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีข้อความแจ้งเตือนภัยจากรัฐบาลเลย ช่องทางกระจายข่าวสารฉุกเฉินก็ไม่มี
คำถามก็คือ ทำไมเวลานี้ประเทศไทยถึงยังไม่มีระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Alert System ที่เป็นข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ ตลอดจนเหตุการณ์ร้ายแรงจากรัฐบาลเลย และเมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุร้ายขึ้น ก็จะมีการถามหากันอีกครั้งว่าแล้วเมื่อไรถึงจะมีสักที เพราะถ้าหากศึกษาความสำคัญของระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินนี้ เบื้องต้นเลยก็คือมันช่วยลดความเสียหายหรือการสูญเสียได้อย่างมหาศาล เมื่อมีแจ้งเตือนเหตุร้าย เราจะกันผู้ไม่เกี่ยวข้องที่กำลังจะเข้าไปในพื้นที่ได้ ถ้าเขารู้ว่าไม่ปลอดภัยก็จะไม่เข้าไป มีการแจ้งเตือนเพื่อให้คนในพื้นที่ยกระดับการระวังภัย ฟังคำแนะนำที่น่าเชื่อถืออย่างเคร่งครัด หรืออพยพออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว มันมีประโยชน์เป็นอย่างมาก
เทคโนโลยี Cell Broadcast กับการเตือนภัยฉุกเฉินแก่คนจำนวนมาก
โลกของเราทุกวันนี้เป็นโลกยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าการใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ ที่อาจใช้ได้แค่ในบางกรณีและมีข้อจำกัดอื่น ๆ ในการใช้งาน มันคือเทคโนโลยี Cell Broadcast ที่ภาครัฐสามารถใช้สื่อสารและส่งข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ถึงโทรศัพท์มือถือในมือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพราะทุกวันนี้ประชาชนแทบทุกคนมีมือถือใช้ ต่อให้เป็นเครื่องราคาหลักร้อยก็สามารถรับข้อความแจ้งเตือนนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมอินเทอร์เน็ตก็รับข้อความได้ แต่ทุกคนไม่ได้มีวิทยุทรานซิสเตอร์ใช้ หรือเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วด้วยซ้ำไป
Cell Broadcast เป็นเทคโนโลยีการส่งข้อความไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายรายในพื้นที่ที่กำหนดพร้อมกัน ซึ่งการส่งข้อความผ่าน Cell Broadcast เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1997 โดยมีการทดลองในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปัจจุบันมีใช้งานแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยข้อความนี้จะส่งแจ้งเตือนในยามฉุกเฉินเท่านั้น
Cell Broadcast เป็นระบบที่มีจุดเด่นตรงที่ไม่ว่าเราจะใช้เครือข่ายอะไร 2G, 3G, 4G, 5G, CDMA ก็สามารถรับข้อความได้ โดยข้อความแจ้งเตือนจะมาตามคลื่นวิทยุ ไม่ต้องทราบเบอร์โทรศัพท์ก็รับข้อความได้ หรือแม้สัญญาณอ่อนก็ส่งได้เช่นกัน ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็รับข้อความได้ หน่วยงานสามารถส่งข้อความได้โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่าย และข้อความที่ส่งสามารถเข้าถึงมือถือได้จำนวนมากในเวลาไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ในอุปกรณ์มือถือจำนวนมาก ฟังก์ชันนี้อาจถูกปิดใช้งานไว้ตามค่าเริ่มต้น และไม่มีอินเทอร์เฟซมาตรฐานในการเปิดใช้งานคุณลักษณะนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มี Emergency Alert System แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินกับประชาชน ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 เว็บไซต์ change.org เคยได้มีการรรณรงค์แคมเปญ “น้ำท่วม สารเคมีรั่วนครปฐม และอีกหลายกรณี กสทช. ต้องทำระบบ SMS เตือนภัย” และต่อมาวันที่ 5 ต.ค. 2565 เฟซบุ๊กของ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ก็ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Cell Broadcast ไว้ว่า
ถ้าเราเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โทรศัพท์ของทุกคนดังขึ้นมาพร้อมกัน นั่นคือการเตือนภัยพิบัติ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการ แต่เป็นสิ่งที่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่เรียกว่า Cell Broadcasting
Cell Broadcasting คือระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว ซึ่งจะมีข้อดีคือ
- หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (บริษัท AIS, DTAC, True) แบบที่ กสทช. ทำ
- ส่งข้อความจากเสาสัญญาณไปถึงโทรศัพท์ทุกเครื่องในรวดเดียวโดยไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ ทำให้สะดวก รวดเร็ว และเจาะจงพื้นที่ได้ (ความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที)
- ไม่กระทบกับการสื่อสารปกติ เพราะใช้คนละช่องสัญญาณกับโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
- ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
- รองรับการให้บริการครบทั้งคลื่นความถี่ 2G, 3G, 4G, 5G สามารถรับประกันได้ว่าข้อความสามารถไปถึงทุกคนไม่ว่าโทรศัพท์จะรุ่นเก่าหรือใหม่อย่างไร
ซึ่งเทคโนโลยี Cell Broadcasting นี้ สามารถแจ้งเตือนได้ทั้งสภาพอากาศ ระดับน้ำ และกรณีเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนรับมือและข้อแนะนำในการช่วยเหลือเยียวยาจากทางภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานมีการเก็บและรายงานข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาสื่อสารถึงประชาชนอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบกับการใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการกระจายข่าวสาร ที่ถึงแม้ว่าการใช้วิทยุนั้นจะเป็นวิธีที่ใช้ได้ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อระบบสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด (ซึ่งสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรงถึงขนาดสัญญาณโทรศัทพ์ถูกตัดขาด) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่วิธีแก้ในปลายทางเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว แต่ในยุคที่แทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ การใช้ Cell Broadcast ในการเตือนภัยล่วงหน้านั้นทั้งง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และจะทำให้ประชาชนสามารถอพยพได้อย่างทันท่วงที ป้องกันและลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ก่อนที่จะเกิดเหตุ
ไทยเราจะได้เริ่มใช้งานเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อไร
สืบเนื่องมาจากกรณีเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้ากลางกรุง ซึ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแจ้งเตือนภัย (Emergency Alert) สำหรับคนไทยแบบเจาะจงที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีมีเหตุร้ายหรือภัยพิบัติ เพื่อป้องกันภัยและลดความเสียหายต่อประชาชน ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็เริ่มเคลื่อนไหว เร่งดำเนินการออกแบบเทคโนโลยีการเตือนภัยให้กับคนไทย โดยร่วมกับ กสทช. หาแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ดังนี้
- ระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือน : ใช้ระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อย่างไม่ครอบคลุม ใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
- ระยะปานกลางโดยเร็ว : ใช้ระบบ Cell Broadcast เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า SMS โดยจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที และมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ เป็นต้น ซึ่งทาง DE ได้สรุปทางเทคนิคกับ กสทช. แล้ว และผู้ให้บริการพร้อมดำเนินการจะเร่งขยายใช้วงกว้างโดยเร็ว
โดยในส่วนของระบบ Cell Broadcast จะเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมือสื่อสารในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ซึ่งจะทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่ และ Cell Broadcast ไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ ทำให้รวดเร็วกว่าการส่ง SMS มาก นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนภัยเดิมแบบ SMS จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบ Cell Broadcast มาก โดยระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาในการส่งข้อความอีกประมาณ 1-20 นาทีในการส่งให้ครบกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่เป้าหมาย แต่ระบบ Cell Broadcast จะเร็วกว่านั้นมาก คาดการณ์ว่ามีความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้หารือกับ DE และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะมีกลไกและการทำงานดังนี้
- ทำ command center เพื่อให้ operators รู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ข้อความใด ส่งอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- Update software ที่กระจายส่งสัญญาณ ให้ใช้ Cell Broadcast ได้
ทั้งนี้ การให้บริการแจ้งเตือนด้วยระบบ Cell Broadcast จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ พร้อม software สำหรับ Cell Broadcast ทางสำนักงาน กสทช. ประสาน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเร่งดำเนินการให้เสร็จพร้อมใช้ทั้งประเทศโดยเร็ว สำหรับที่มาของงบประมาณ จะใช้เงินจากกองทุน USO
อย่างไรก็ดี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าระบบแจ้งเตือนภัย ว่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 ต.ค. 2566) ได้ทดลองการยิงสัญญาณเข้าโทรศัพท์มือถือ แจ้งเตือนภัยแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ในบริเวณทำเนียบรัฐบาล หรือเรียกว่าระบบ Location-Based System ทดลองผ่านเครือข่าย AIS และ TRUE พบว่าระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ดี ซึ่ง DE จะหารือกับ กสทช. และโครงข่ายโทรศัพท์ทั้งหมด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น สามารถทำได้ทันที
ส่วนในระยะยาวจะเร่งพัฒนา Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งไม่เกิน 1 ปี จะสามารถเกิดขึ้นได้ หรืออย่างเร็วคือภายใน 6 เดือน หากสามารถทำได้จะเป็นระบบที่มีความเสถียร และเป็นระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบมีความมั่นคง และสามารถแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ส่วนการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน LINE ALERT ที่มีการใช้งานในปัจจุบันนั้น หากมีเหตุใหญ่ที่กระทบประชาชนทั้งประเทศ จะยกระดับการแจ้งเตือน ซึ่งมีแผนเตรียมการไว้แล้วเช่นกัน