รู้จักไหม “โรคไข้ดิน” ภัยเงียบฤดูฝน ติดเชื้อป่วยปีละกว่า 2 พันคน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก รักษาไม่ทันตายใน 2-3 วัน
วันนี้ (21 ตุลาคม 2566) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ออกมาเปิดเผยสถานการณ์โรคเมลิออยด์ (melioidosis) หรือโรคไข้ดิน ในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า พื้นที่ดูแล 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 7 ตุลาคม 2566 มากถึง 582 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย
เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วยมากสุด 336 ราย และเสียชีวิต 4 ราย รองลงมาคือจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 93 ราย และเสียชีวิต 2 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 106 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 47 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ เกษตรกร ร้อยละ 53.78 รองลงมาคือ รับจ้าง ร้อยละ 25.88 และเด็ก ร้อยละ 6.87 ตามลำดับ
โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55 – 64 ปี และกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี ตามลำดับ ซึ่งโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย” พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยในปี 2565 มีผู้ป่วยมากกว่า 2,300 ราย และเสียชีวิตกว่า 30 ราย
โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 2.การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และ 3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
เมื่อติดเชื้อประมาณ 1-21 วัน จะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน ซึ่งอาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ และอาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะ และเสียชีวิตได้ โดยข้อมูลจากแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบุถึงความรุนแรงของโรคว่า สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ภายใน 2 – 3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรป้องกันตนเองจากโรคเมลิออยด์หรือโรคไข้ดิน ด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แต่หากจำเป็น ก็ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรงและ หากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ รวมทั้ง อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ และให้ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
โดยหากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคทันที ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422