
วันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 07.55 น.
สัปดาห์ก่อนพูดถึงเรื่องโรคเบาหวานว่าเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ แต่เป็นปัญหาใหญ่ทั้งระดับโลกและระดับประเทศเพราะหากผู้ป่วยไม่ยอมไปรับการรักษา หรือรับการรักษาแล้วแต่ไม่ร่วมมือในการใช้ยา และไม่ปรับพฤติกรรม ผลที่ตามมาคือ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แล้วทำให้เจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดอุดตันที่สมองหรือหัวใจ ไตวายจอประสาทตาเสื่อม ปลายประสาทอักเสบ เกิดแผลติดเชื้อ จนต้องตัดเท้าหรือขา ทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้ในที่สุด
แต่แม้ว่าเบาหวานจะน่ากลัวมากเพียงใดก็ตาม หากผู้ป่วยรักษาตัวให้ดี ก็ยังมีหวังในการรักษา ปัจจุบันมีการคิดค้นหาสูตรยารักษาเบาหวานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ทำให้คุมเบาหวานได้ดีขึ้นลดความเจ็บป่วย และลดการตายจากโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากเดิมที่เคยมียาเพียง 2-3 กลุ่ม ปัจจุบันยาเบาหวานมีถึง 6-7 กลุ่มเป็นทางเลือกในการรักษา
วันนี้จะขอเล่ายาแต่ละกลุ่มโดยสังเขป ดังนี้
1. อินซูลิน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะขาดอินซูลินหรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ จึงจำเป็นต้องให้อินซูลินสังเคราะห์จากภายนอก แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตอินซูลินชนิดกินได้ ต้องทำในรูปแบบยาฉีดเท่านั้น อย่างไรก็ตามคนไข้เบาหวานส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากยากินก่อน และถ้าคุมเบาหวานได้ดี ก็อาจไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน
2. ยาเม็ดเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ในผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดปกติในการสร้างหรือหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน การให้ยาเม็ดเพื่อให้ร่างกายไว และตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มความไวต่ออินซูลินมี เช่น metformin และ pioglitazone เป็นต้น
3. ยาเม็ดกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ sulfonylureas ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ glipizide, glimipiride เป็นต้น กลุ่มที่ 2 คือ meglitinides หรือที่เรียกชื่อย่อว่า glinides ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ repaglinide เป็นต้น กลุ่มที่ 3 คือ dipeptidyl peptidase-4 inhibitors (DPP-4 inhibitors หรือที่เรียกย่อๆ ว่า gliptins) ซึ่งกลุ่มนี้นอกจากเพิ่มการหลั่งอินซูลิน แล้วยังยับยั้งการผลิตฮอร์โมนกลูคากอนซึ่งมีฤทธิ์ตรงข้ามกับอินซูลินด้วย ตัวอย่างเช่น ยา sitagliptin
4. ยาเม็ดลดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตจากทางเดินอาหาร ยาชนิดนี้ทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารจำพวกแป้งที่จะไปเปลี่ยนเป็นน้ำตาลลดลง จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้นมากเกินไป เช่น acarbose, voglibose เป็นต้น
5. ยาเม็ดยับยั้งการดูดกลับของน้ำตาลและเพิ่มการขับน้ำตาลออกทางไตและปัสสาวะ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้คือ empagliflozin, dapagliflozin เป็นต้น
6. ยากระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งยาเบาหวานกลุ่มนี้เป็นยาที่ออกมาใหม่ล่าสุด มีทั้งที่เป็นยาฉีดและยากิน นอกจากฤทธิ์คุมน้ำตาลแล้ว ยังทำให้ความอยากอาหารลดลง และผู้ป่วยที่ใช้ยาอาจจะมีน้ำหนักตัวลดลงด้วย
นอกจากยากลุ่มใหญ่ๆ ถึง 6 กลุ่ม ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีการพัฒนายาอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าอีกไม่นานคงมียาเบาหวานกลุ่มใหม่ๆ มาให้ผู้ป่วยใช้
ยากลุ่มที่มักถูกเลือกใช้เป็นลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มที่ 2 และ 3 ซึ่งแพทย์จะเลือกชนิดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ยาแต่ละกลุ่มมีวิธีใช้ และอาการข้างเคียงแตกต่างกัน เช่น ยาที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลินส่วนใหญ่แนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้ออกฤทธิ์ทันเมื่อกินอาหาร ยากลุ่มนี้กินแล้ว ควรกินอาหารตามมื้อปกติ เพราะหากกินยา แต่งดอาหาร ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
ส่วนยาลดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต ควรกินพร้อมอาหารคำแรก เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่ หากลืมแต่ไปกินหลังจากอาหารย่อยหรือดูดซึมแล้ว ประสิทธิภาพจะต่ำลง ขณะที่ยาที่มีผลทำให้น้ำตาลขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ผู้ใช้ยาอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังความสะอาดเป็นพิเศษ
เภสัชกรจะแจ้งข้อมูลที่จำเป็นขณะจ่ายยาให้ผู้ป่วย รวมถึงระบุข้อควรระวังต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้อง ปลอดภัย ผู้ป่วยเบาหวานควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับเพิ่มลด หรืองดยาเอง และที่สำคัญไม่เกิดอาการแพ้เมื่อใช้ยาสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกาย ไปพบแพทย์ตามนัด เมื่อสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ก็ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อน มีชีวิตปกติ และมีคุณภาพชีวิตดีได้
แต่หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเกิดจากยาก็ขอให้สอบถามเภสัชกรที่จ่ายยา หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทาง line @guruya
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย