รายงานพิเศษ | มงคล วัชรางค์กุล
ลืมรส ‘แม่โขง’
ร้านอาหารไทยในสหรัฐ
ที่อดีต ปธน.บุชเป็นลูกค้าประจำ
เป็นธรรมเนียมทุกปลายปีช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่คนข้างกายและผมจะขับรถขึ้นไปชมฤดูใบไม้แต่งตัวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา
เหตุผลหลักคือเป็นช่วงใบไม้กำลังเปลี่ยนสี ธรรมชาติรอบข้างสวยสดงดงามยิ่ง ข้อสำคัญคือสิ้นสุดฤดูร้อนไปแล้ว เพราะโรงแรมที่พักริมทะเลแถบนี้ราคาจะแพงมากในช่วงหน้าร้อน เรามาตอนช่วงหน้า Fall จึงได้โรงแรมที่พักในราคาพอจับต้องได้
ปีนี้มีเพื่อนรักที่เคยเรียนที่บัญชีจุฬาฯ ด้วยกันคืออาจารย์มดแห่งคณะบัญชีจุฬาฯ และพี่แดง สามีวิศวกร บินมาร่วมเที่ยวด้วย
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนออกจากบ้านเรดดิ้ง คือเตรียมทำน้ำจิ้มซีฟู้ด บีบจากมะนาวหลายลูก มะนาวที่นี่ราคาถูกมาก เด็ดพริกจากต้นที่บ้านมาหั่นลงไป เติมน้ำปลา น้ำตาลนิดหน่อย ได้น้ำจิ้มค่อนกระป๋องเอามาจิ้มล็อบสเตอร์กินให้หนำใจ
เราจะขึ้นไปที่รัฐเมน (Maine ) ที่รัฐนี้กุ้ง lobsters ราคาถูกกว่าเมืองไทย
เริ่มแรกขับรถขึ้นไปตามไฮเวย์ 276 จากรัฐเพนซิลเวเนีย วิ่งเฉี่ยวบางส่วนของนิวยอร์กมุ่งสู่รัฐคอนเนตทิคัต ใบไม้ที่นี่กำลังเปลี่ยนสีให้เฉดเหลือง แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำตาล สวยสดงดงาม ต้น Japanese Maple ให้ใบสีแดงเข้มเป็นพุ่มใหญ่ทั้งต้น แดงสว่างไสว ไปถึงที่พักที่เมือง Mystic, CT ตอนมืดแล้ว
เช็กอินที่พักแล้วเราตรงไปที่ร้านชื่อ The Fisherman Restaurant อยู่ที่ Long Point ปลายแหลมริมอ่าวแถบนั้น
ร้านนี้เป็นร้านดังของเมือง แต่งร้านไว้สวยงามด้วยรูปปลาทะเล บอกเล่าเรื่องทะเล รวมถึงป้ายเรื่อง The Old Man And The Sea, A Classic Fishing Story By Ernest Hemingway
เห็นแล้วหวนรำลึกถึงคำนิยมที่พี่เสถียร จันทิมาธร เขียนให้เรื่องสั้นชื่อ “ฟ้าปลี่ยนสีที่ซองด๊อต” ของผม ที่ได้รับรางวัลเรื่องสั้นเกียรตินิยมของชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2513 พี่เสถียรบรรยายว่าผมเขียนเรื่องได้บรรยากาศทะเลเหมือนกับ The Old Man And The Sea ของเฮมมิ่งเวย์
เป็นปลื้มยิ่งนัก
ที่ร้าน The Fishman Restaurant คืนนั้น Lobster ตัวสุดท้ายเสิร์ฟให้โต๊ะก่อนหน้าเราไปแล้ว ค่ำคืนนั้นจึงได้ลิ้มรสแค่ Lobster Roll ไปก่อน เป็นเนื้อล็อบสเตอร์ตัวเล็กๆ หุ้มด้วยขนมปังแล้วนึ่งด้วยกัน เสิร์ฟมาอุ่นๆ กินอร่อยมาก
Lobster Roll เป็นอาหารชื่อดังของรัฐเมน
วันรุ่งขึ้นเราเข้าชม Mystic Seaport Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ทางทะลที่ใหญ่มาก สร้างอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นท่าเรือ Mystic Seaport ตัวจริงในสมัยก่อน อาคารหลักสองชั้นบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การเดินเรือของมนุษยชาติให้ได้รับรู้
รอบท่าเรือ มีอาคารหอนาฬิกา ศาลาประชาคม อาคารการค้าเป็นหลังๆ มีโรงงานขนาดใหญ่ 2 ชั้นทอเชือกผูกเรือ โรงหล่อใบจักร มีธนาคาร ร้านขายยา โรงพิมพ์มีตัวเรียงพิมพ์และแท่นพิมพ์แบบโบราณ ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ทั้งหมดคือชุมชนรอบท่าเรือ
ในขณะที่ริมท่าเรือเป็นที่จอดเรือประวัติศาสตร์หลายลำให้คนขึ้นชมเรือ มีเรือใบ 3 เสาลำหนึ่งจอดโชว์ให้ขึ้นชม เรือลำนี้เคยเป็นสถานีฝึกลูกเรือของเดนมาร์กและนอร์เวย์ ต่อมาขายไปออสเตรเลีย แล้วพ่อค้าอเมริกันซื้อเรือมาอเมริกา ท้ายที่สุดทำเนียบขาวซื้อเรือมอบให้เป็นของขวัญแก่พิพิธภัณฑ์นี้
มีเรือใบขนาดย่อมที่เหล่าทาสจากแอฟริกัน 53 คนจี้ให้แล่นไปส่งที่แอฟริกา แต่พอออกจากปากอ่าว เรือก็ล่ม ตอนนี้กู้เรือมาจอดให้ชม
บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Mystic Seaport Museum อนุญาตให้เข้าชมได้ 2 วันติดกัน เพราะที่นี่ใหญ่มาก มีอาคารและเรือให้ชมถึง 53 จุด ถ้าเข้าชมวันเดียวจะไม่ทั่วถึง แต่หลังจากกินกลางวันที่ร้านจีนหน้าพิพิธภัณฑ์ เราก็ต้องเดินทางต่อไปยังรัฐเมน
แวะชมความงามที่ชายหาด Misquamicut State Beach ชื่อตัวแรกเป็นภาษาอินเดียนแดง นี่คือชายหาดอันงดงามแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก
แล้วมุ่งสู่ที่พักที่ Rhumb Line Resort เมือง Kannebunkport รัฐเมน
ดินเนอร์เย็นวันนี้ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โรงแรม คือร้านชื่อ Federal Jack’s เป็นร้านสวยตั้งอยู่ริมอ่าว
ผมได้ลิ้มรส Lobster ที่ฝันถึงมาทั้งปีที่นี่ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแบบไทยไทย อร่อยที่สุด คนข้างกายสั่งหอย Clam อบที่อร่อยไม่แพ้กัน
วันรุ่งขึ้นที่เมืองนี้ เราไปนั่งรถไฟโบราณที่สถานี Northampton Station ที่นี่มีอาคารสถานีเก่าทั้งหลังตั้งโชว์ สถานีรถไฟแห่งนี้เปิดใช้งานเมื่อปี 1901 วัตถุประสงค์ในการเปิดเดินรถ นอกจากขนส่งผู้คนจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่งแล้ว ยังขนส่งถ่านหินจากเมืองท่าริมมหาสมุทรไปยังโรงงานด้านในแผ่นดิน
รถไฟที่นั่งวันนั้น เป็นรถไฟเปิดข้างให้ขึ้นลงแบบโบราณ ขึ้นลงได้ยาวตลอดโบกี้ ก้าวขึ้นไปก็มีม้านั่งรองรับเลย วิ่งแบบโอเพ่นแอร์ในสายลมเย็นของฤดูใบไม้ร่วง มีวิวใบไม้เปลี่ยนสีสองข้างทางให้ชื่นชม
รถไฟวิ่งไปสัก 4-5 ก.ม. แล้วมีที่กลับรถให้ย้อนมาต้นทาง หลีกกับขบวนหลังที่วิ่งตามมา แวะจอดที่ลานฟักทองให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับฟักทองเต็มทุ่ง
พอรถไฟเข้าเทียบชานชาลา รถไฟขบวนใช้แรงเท้าถีบของคนหนุ่มสาวก็ออกวิ่งตามเส้นทางเดียวกัน
ขับรถออกมาผ่านวิวริมมหาสมุทรแปซิฟิก เข้าสู่เมืองท่องเที่ยวยอดฮิต Kennebunkport แห่งรัฐเมน ถนนใจกลางเมืองรถติดยาว ต้องค่อยเคลื่อนไป
บ่ายแล้ว หิวมาก วิ่งผ่านออกมาด้านนอกเมือง ผ่านร้านชื่อสะดุดตาต้องเลี้ยวรถเข้าไป ร้านชื่อ
MEKHONG THAI RESTAURANT
ภัตตาคารแม่โขงไทย
จอดรถที่ลานจอดหน้าร้าน เสียงคนบนร้านตะโกนจากชั้นบนว่า
We are closed now – ร้านปิดแล้ว
ผมตอบเป็นภาษาไทยว่า ช่วยเปิดร้านหน่อยครับ
เสียงคนในร้านพูดกันว่า คนไทย แล้วเสียงจากหน้าต่างตอบว่า
“ขึ้นมาเลยครับ”
เราเดินอ้อมไปด้านข้างขึ้นบันไดสู่ร้านบนชั้นสองแล้วได้พบกับคนไทยสามี-ภรรยาเจ้าของร้าน
คุณสุภาพกับคุณศิริเพ็ญ ทะกอง
คุณสุภาพบอกว่าตอนนั้นเกือบบ่ายสามโมง ร้านปิดแล้วตั้งแต่สองโมงครึ่ง แต่ยินดีเปิดบริการให้ลูกค้าชาวไทย
พวกเรากำลังหิว ขอสั่งไข่เจียวอย่างเดียว อย่างอื่นแล้วแต่เจ้าของร้านจะจัดมาให้
คุณศิริเพ็ญหรือชื่อเล่นคุณหมวยเข้าครัวทำอาหาร มื้อนั้นแสนอร่อยด้วยสุดยอดฝีมือ ประกอบด้วยไข่เจียว กะเพรากุ้งราดพริก ต้มยำกุ้ง ผัดเปรี้ยวหวานทะเล สปาเกตตีผัดไก่แบบไทย เกี๊ยวกรอบ กินกับข้าวสวยร้อนๆ
อร่อยจนต้องฝันถึง
คุณสุภาพเล่าว่าซื้อร้านนี้ก่อนปี 1986 สัก 2-3 ปี ซื้อจากเจ้าของเดิมที่เป็นคนลาว ตั้งชื่อร้านไว้ว่า แม่โขง เลยใช้ชื่อเดิม
คุณสุภาพเล่าเรื่องสำคัญที่สุดว่า ท่านอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (George H.W. Bush) ประธานาธิบดีคนที่ 41 (ปี 1989-1993) เป็นลูกค้าประจำร้านนี้ ท่านประธานาธิบดีจะนั่งที่โต๊ะแรก หันหลังให้หน้าต่าง หันหน้ามาตรงทางเดิน หรือบางทีก็นั่งโต๊ะในสุด หันหน้าเข้าหาทางเดินเหมือนเดิม
ก่อนที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช จะมาที่ร้าน หน่วยรักษาความปลอดภัยจะเข้ามาเคลียร์สถานที่ก่อน แล้วตอนที่จอร์ช บุช อยู่ในร้าน หน่วยรักษาความปลอดภัย 7-8 คนจะกระจายอยู่โดยรอบ เฝ้าตั้งแต่ข้างล่าง บนร้านด้านหน้าและด้านหลัง
จอร์จ บุช จะมาที่ร้านแม่โขงไทยพร้อมกับอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 บาร์บารา บุช คุณสุภาพเล่าว่าป้าบาร์บาราใจดีมาก บาร์บาราเสียชีวิตก่อนบุช
ปกติหน่วย security จะกันไม่ให้ใครเข้าใกล้บุช แต่สำหรับทั้งสองคน บุชบอกหัวหน้ารักษาความปลอดภัยยศพันตรีว่า ให้เข้ามาได้จะ take care เอง
อาหารโปรดของจอร์จ บุช คือผัดไทย
จอร์จ บุช และบาร์บารา บุช จะมาที่ร้านทุกบ่อย ถ้าไม่มาก็จะสั่งทูโกไปที่บ้าน
คุณสุภาพเล่าต่อว่าประธานาธิบดีจอร์จ บุช ให้ความเมตตามาก เรียกคุณสุภาพว่า Son – ลูกชาย ถ้ามีปัญหาอะไรให้บอก
วันที่คุณสุภาพกับคุณศิริเพ็ญขึ้นบ้านใหม่ที่เมืองนี้ จอร์จ บุช ก็ให้เกียรติมาที่บ้าน
ที่รูปป้ายร้านเป็นภาพวาดหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา ใต้ภาพมีลายเซ็น George Bush ลงวันที่ 5/27/98 – (พฤภาคม / 27 / ปี 1998)
นอกจากนี้ ยังประดับด้วยภาพถ่ายสำคัญอีกหลายภาพ จอร์จ บุช กับสุภาพและศิรืเพ็ญ, บาร์บารา บุช ศิริเพ็ญ สุภาพและจอร์จ บุช, จอร์จ บุช ถ่ายรูปหมู่กับเด็กเสิร์ฟคนไทย เอามือจับไหล่เด็ก, รูปหมู่จอร์จ บูช บาร์บารา บุช เด็กฝรั่งชาย-หญิงถ่ายกับคุณสุภาพและพนักงานคนไทย, รูปหมู่ถ่ายหน้าร้านข้างล่าง จอร์จ บุช นั่งเก้าอี้ บาร์บารา บุช ยืนข้างหลัง หลานสาวบุช 2 คนนั่งข้าง คุณสุภาพ คุณศิริเพ็ญและพนักงานร้านนั่งคุกเข่าอยู่โดยรอบ
จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ให้ความเป็นกันเองตั้งแต่เจ้าของร้านจนถึงเด็กเสิร์ฟชาวไทย
ทุกภาพคือภาพประวัติศาสตร์บอกเล่าความสัมพันธ์ของเจ้าของร้านอาหารไทยที่ได้รับความเมตตาจากอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
หาไม่ได้อีกแล้วบนแผ่นดินอเมริกา
คุณหมวย ศิริเพ็ญ ขอเลี้ยงอาหารคนไทยไกลบ้าน แต่พวกเราไม่ยอม คุณหมวยเลยรูดการ์ดไป $ 25 เป็นมื้อประทับใจที่สุดในชีวิต
แล้วเราขับรถไปที่ปลายแหลม Kennebunkport บริเวณนั้นมีคฤหาสน์บ้านพักของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช มีแผ่นจารึกว่า “An Anchor to Windward” พร้อมโซ่ล่ามสมอเรือ
อีกป้ายเขียนว่า “Our President George H.W. Bush” พร้อมภาพถ่ายจอร์จ บุช และบาร์บารา บุช บอกเล่าเรื่องราวความผูกพันของจอร์จ บุช กับแหลม Kennebunkport ที่จอร์ บุช บอกว่าเป็น “anchor to windward ” ของเขา
นี่คืออีกหนึ่งภาพประวัติศาสตร์ของอเมริกาที่สัมผัสจับต้องได้
หมายเหตุ : ในวัยหนุ่ม คุณสุภาพเป็นเชฟอยู่ที่บาห์เรน 12 ปี เป็นเชฟใหญ่คุม 2 โรงแรม กลับมาเมืองไทยแค่อาทิตย์เดียว แล้วได้วีซ่าบินเข้าอเมริกา ทำงานเป็นเชฟร้านอาหารฝรั่งเศส 12 ปี ก่อนจะมีร้าน Mekhong Thai Restaurant เป็นของตัวเอง ตอนนี้อายุ 70 ปี แต่ยังแข็งแรงดูหนุ่มฟ้อ
พบกับคุณศิริเพ็ญที่เคยเป็นไกด์และทำงานในเรือสำราญมาก่อน แล้วมาทำงานที่นิวเจอร์ซีย์ พบกับคุณสุภาพที่นี่ เจ้านายที่ร้านฝรั่งเศสปิดร้านที่ขายวันละ $ 50,000 เลี้ยงฉลองงานแต่งงานให้พร้อมอาหารและแชมเปญ แล้วมาจัดงานแต่งงานที่เชียงใหม่บ้านเกิดของคุณศิริเพ็ญอีกครั้ง
หลังจากซื้อร้านที่เมนแล้ว ทั้งสองขยายร้านจนมี 5 สาขา ปัจจุบันขายออกไปเหลือแค่ 2 ร้านที่เมือง Kennebunkport แห่งนี้
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ลืมรส ‘แม่โขง’ ร้านอาหารไทยในสหรัฐ ที่อดีต ปธน.บุชเป็นลูกค้าประจำ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com