Key Points:
- “เสียงแจ้งเตือน” จากมือถือที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่มีหยุด ส่งผลเสียต่อ Productivity ในการทำงาน ทั้งยังกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ
- ผลสำรวจพบว่า คนทั่วไปจะหยิบมือถือขึ้นมาดูบ่อยถึง 85 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 1 ครั้งในทุกๆ 15 นาที
- ปัญหาที่ตามมาคือ อาจต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าที่คุณจะกลับมามีสมาธิได้เต็มที่ หลังจากถูกขัดจังหวะจากการแจ้งเตือนทางมือถือ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ “โซเชียลมีเดีย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก แน่นอนว่ามันมีข้อดี เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสื่อสารเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าในอดีต แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับพบว่า ข้อมูลและเสียงแจ้งเตือนต่างๆ จากมือถือที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่มีหยุด ส่งผลเสียต่อ Productivity ในการทำงาน รวมถึงกระทบต่ออารมณ์ความเครียดและสภาวะจิตใจ
ยิ่งสมาร์ตโฟนส่งเสียงแจ้งเตือน “ปิงๆๆๆ” ใส่คุณแทบจะตลอดเวลาในช่วงทำงาน ก็ยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสมาธิและประสิทธิผลของหน้าที่การงานมากกว่าที่คิด
- สมาร์ตโฟน = ตัวป่วนสมาธิ ผลสำรวจพบคนเราหยิบมือถือมาเช็ก 85 ครั้ง/วัน
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Experimental Psychology ระบุว่า การมีอยู่ของโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในยุคนี้ ไม่ว่ามันจะส่งเสียงแจ้งเตือนหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะหันเหความสนใจของคุณได้เสมอ และการโต้ตอบกับโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแจ้งเตือน มีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพงานที่ลดลง
ในขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจาก Beyond Self-Report สำรวจพบว่า คนทั่วไปจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็กบ่อยถึง 85 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 1 ครั้งในทุกๆ 15 นาที กล่าวอีกนัยหนึ่งหมายความว่า ทุกๆ 15 นาที ความสนใจของคุณมีแนวโน้มที่จะหลุดลอยไปจากสิ่งที่คุณทำอยู่
ปัญหาที่ตามมาคือ อาจต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าที่คุณจะกลับมามีสมาธิได้เต็มที่ หลังจากถูกขัดจังหวะจากการแจ้งเตือนทางมือถือ โดยเฉพาะถ้าการแจ้งเตือนดังขึ้นมาตอนที่คุณกำลังทำงาน เรียนหนังสือ หรือขับรถอยู่ มันก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดปัญหาใหญ่ได้
อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์พบว่า การรบกวนจากสมาร์ตโฟนแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. การขัดจังหวะภายนอก: สมาร์ตโฟน “เปิดเสียงแจ้งเตือน” และมันส่งเสียงปิงๆๆๆ ไม่หยุด เกิดสิ่งเร้าภายนอกจนทำให้คนทำงานเกิดหยุดชะงักขณะที่กำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ (เสียงแจ้งเตือนทำให้คนเราเกิดความตื่นเต้นและอยากกดดู)
2. การขัดจังหวะภายใน: สมาร์ตโฟน “ปิดเสียงแจ้งเตือน” แม้เราจะไม่ได้ยินเสียงแจ้งเตือนใดๆ แต่ขณะทำงานเราก็มักจะมองไปที่มือถือบ่อยๆ บางครั้งก็พยายามต่อสู้กับความอยากที่จะเช็กข้อความ แต่สุดท้ายก็ทนไม่ได้ ต้องหยิบมาดูอยู่ดี
- การแจ้งเตือนแบบพุช ทำเสียสมาธิจนประสิทธิภาพงานลดลง
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานจากงานวิจัยอีกหลายชิ้น ชี้ตรงกันว่า “การแจ้งเตือนแบบพุช” (Push Notifications: ข้อความ pop-up ขนาดเล็กที่ส่งไปยังมือถือของผู้ใช้งาน ซึ่งปรากฏขึ้นแม้ในขระที่แอปฯ ไม่ได้เปิดอยู่) มีส่วนเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง มีสมาธิน้อยลง และสร้างความว้าวุ่นใจในที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อคลื่นสมองของมนุษย์ด้วย
เนื่องจากขณะที่คนเรากำลังโฟกัสอยู่กับงาน 1 งาน แต่เมื่อมีเสียงแจ้งเตือนเกิดขึ้น เราจะต้องแบ่งโฟกัสมาดูหน้าจอมือถือเพิ่มอีกอย่าง ทำให้สมาธิถูกรบกวน กลายเป็นต้องโฟกัส 2 อย่างไปพร้อมกัน อีกทั้งหากคุณเป็นคนประเภทที่ต้องเช็กมือถือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแจ้งเตือน ก็จะยิ่งทำให้สมองไวต่อการแจ้งเตือนมากกว่าคนทั่วไป (เช็กอยู่ตลอดแบบหยุดไม่ได้)
นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากได้ยินการแจ้งเตือนแบบพุช ผู้ที่เสพติดการใช้งานมือถือบ่อยๆ จะ “มีสมาธิแย่กว่า” ผู้ที่ไม่ค่อยติดมือถืออย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการแจ้งเตือนแบบพุชจะรบกวนสมาธิของผู้ใช้งานทั้งสองกลุ่ม แต่ในกลุ่มผู้ติดมือถือจะใช้เวลานานกว่ามากในการกลับมามีสมาธิอีกครั้ง
มากไปกว่านั้น.. การถูกขัดจังหวะโดยเสียงแจ้งเตือนของโทรศัพท์บ่อยครั้ง อาจนำไปสู่ความรู้สึกเครียดมากขึ้น จากความจำเป็นในการตอบสนองการแจ้งเตือนนั้น อีกทั้งการขัดจังหวะจากสมาร์ทโฟนบ่อยครั้งยังสัมพันธ์กับภาวะ FOMO (Fear of Missing Out: กลัวที่จะพลาด) ที่เพิ่มขึ้นด้วย
หากคุณเสียสมาธิกับโทรศัพท์หลังจากตอบกลับการแจ้งเตือน อาจทำให้คุณรู้สึกผิดหรือหงุดหงิดได้ มีหลักฐานบ่งชี้อีกว่า ยิ่งคุณใช้โทรศัพท์ไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์นานเท่าไร คุณก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนความเป็นอยู่ของคุณต่ำลงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากใครรู้สึกว่าตนเองเข้าข่ายที่จะเสียสมาธิทำงานจาก “เสียงแจ้งเตือน” ของสมาร์ตโฟน ก็สามารถแก้ไขได้ในเบื้องต้น โดยอาจเริ่มจาก “ปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น” ทั้งหมด โดยในระหว่างวันให้เช็กมือถือเท่าที่จำเป็น พยายามไม่หยิบดูตลอดเวลา
นอกจากนี้ อาจลองฝึกใช้เทคนิค Pomodoro ในการแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักเป็นช่วงๆ (เช่น ทำงาน 25 นาที/พัก 5 นาที) เพื่อเพิ่มโฟกัสและสมาธิในการทำงาน หลังจากมีสมาธิเต็มที่กับงานใน 25 นาทีนั้นแล้ว ค่อยเช็กมือถือในช่วงพัก 5 นาที รวมถึงเวลาจะเข้านอนควรชาร์จมือถือหรือวางมือถือไว้ที่ห้องอื่น อย่าวางไว้ใกล้ตัวในห้องนอน เป็นต้น