ศาลาเฉลิมกรุง “โรงภาพยนตร์” สมัยใหม่แห่งแรกของไทย ที่ยุคหนึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉายหนัง “มิตร ชัยบัญชา” คนแห่ดูแน่นโรง
ย้อนไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดสร้าง “โรงมหรสพ” ขึ้นบริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญในยุคนั้น เพื่อเป็นที่ระลึกในการฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี (พ.ศ. 2475) ใช้วลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2473-2476 โดยมี ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และ อาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นผู้คำนวณโครงสร้าง
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”
ศาลาเฉลิมกรุง เป็นอาคารกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบเกลี้ยง ความสูง 3 และ 4 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน ต่างจาก โรงภาพยนตร์ ขณะนั้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารและโครงสร้างไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นโถงหน้า และส่วนโรงภาพยนตร์ สามารถรองรับผู้ชมได้กว่า 1,000 ที่นั่ง รูปแบบอาคารสันนิษฐานว่า ม.จ.สมัยเฉลิม ได้แนวคิดจาก Theatre des Champs-Elysees โรงละครที่ตั้งอยู่บนถนนชองป์-เซลิเซ่ส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ศาลาเฉลิมกรุงถือเป็นโรงมหรสพ “แห่งแรก” ของไทยในหลายๆ ด้าน คือ
1. เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่มีการใช้ระบบปรับอากาศ โดยใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ (Chilled Water System) ซึ่ง กาญจนาคพันธุ์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เมื่อเปิดโรงตอนแรกๆ เปิดเครื่องทำความเย็นจนรู้สึกเวลานั่งดูหนังหนาวสั่น”
2. เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ฉายภาพยนตร์เสียง โดยฉายภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงในฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร
3. เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกๆ ที่มีพื้นที่ส่วนห้องโถง ซึ่งมีทั้งร้านอาหารและของขบเคี้ยว เช่น ป็อปคอร์น, ช็อคโกแลต จำหน่าย
ในยุคนั้น “ศาลเฉลิมกรุง” ถือเป็น โรงภาพยนตร์ ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทีเดียว จัดฉายภาพยนตร์ทั้งจากต่างประเทศและไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจคนไทยตลอดกาล นำแสดง ที่มีแฟนๆ แห่มาดูกันแน่นโรง ซึ่งครั้งหนึ่ง มิตร ชัยบัญชา ได้มาแจกภาพถ่ายของเขาที่ด้านหน้าศาลาเฉลิมกรุงด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก
ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ และคณะ. รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของการบูรณะและฟื้นฟูโรงภาพยนตร์เฉลิมธานี เสนอต่อหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน). ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์
รศ.สุภาวดี รัตนมาส, ปริญญา ชูแก้ว. การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ งานสถาปัตยกรรมสมัยโมเดิร์นในประเทศไทย 2, จัดพิพม์โดย DOCOMOMO Thailand, สมาคมสถสปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564