ศิริราชชูความสำเร็จแห่งแรกในโลก ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมฯ รักษาผู้ป่วยแล้ว 2 ราย


ศิริราช แถลงความสำเร็จผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติ ได้ในโรงพยาบาลและใช้จริงในผู้ป่วยแล้ว 2 ราย ถือเป็นความสำเร็จของรพ. เป็นแห่งแรกในโลก

เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสิรินธร โรงพยาบาล (รพ.)ศิริราช จัดแถลงข่าว “ครั้งแรกของโลก ศิริราชสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จ” โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดการแถลงข่าวว่า เป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าและการยกระดับวงการแพทย์ไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยฝีมือคนไทย ก่อประโยชน์อย่างมากต่อคุณภาพชีวิตคนไทย ซึ่งจะผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) หรือบัตรทองและประกันสังคม เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้จับมือกับ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการจัดตั้ง บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด เพื่อการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สามมิติเฉพาะบุคคล นำมาใช้ร่วมกับกระบวนการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิตอล เพื่อให้การผ่าตัดที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการติดตั้งเครื่องพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลดังกล่าว  

ศิริราชจึงเป็นรพ.แห่งแรกในโลกที่มีการผลิตไททาเนียมสามมิติขึ้นภายในรพ.เอง  และได้มีการนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย 2 รายแล้ว ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ถือเป็นรพ.แห่งเดียวในโลกที่เป็น one stop service จากเดิมที่เราต้องประสานผลิตชิ้นงานจากต่างประเทศใช้ระยะเวลา 3-4เดือน แต่ครั้งนี้เราสามารถผลิตได้เองโดยวิศวกรและแพทย์ที่ร่วมกันออกแบบให้ได้ชิ้นงานที่จำเพาะกับผู้ป่วย ลดเวลาเหลือไม่เกิน 2 สัปดาห์ อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายอย่างมากถึง 6-7 เท่า

ในอนาคตนวัตกรรมดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องได้รับกระดูกทดแทนที่มีความเฉพาะเจาะจง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมทั้งยังยกระดับวงการแพทย์ให้ก้าวไกลมากกว่าเดิม

ด้าน ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า จุดเด่นความสำเร็จครั้งนี้คือสามารถลดระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วย ลดการสูญเสีย เพราะเป็นการดำเนินการที่เป็น real time ซึ่งทีมแแพทย์และวิศวกรผู้ออกแบบสามารถจะผลิตชิ้นงานที่เป็นจำเพาะกับผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง และผ่านมาตรฐานสากล ถือเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการรักษา ซึ่งนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มจากทำ CT Scan เพื่อให้ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและวิศวกรจากบริษัท ออส ทรีโอ จำกัด นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ออกแบบกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้เหมาะกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงตำแหน่งของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทเป็นสำคัญ จากนั้นจึงทำการผลิตชิ้นส่วนจำลอง ก่อนเริ่มผลิตชิ้นส่วนจริงด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคล แล้วจึงนำไปใช้กับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัด ซึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *